วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจับสัญญาณ“ทักษิณ-พท.”นิรโทษกรรม!! ไม่แตะล้างผิด112-ผวาเข้าทางปลุกม็อบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับสัญญาณ“ทักษิณ-พท.”นิรโทษกรรม!! ไม่แตะล้างผิด112-ผวาเข้าทางปลุกม็อบ

ก็เป็นจริงอย่างที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทย บอกไว้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์นี้ว่า เปิดประชุมสภาฯสมัยหน้าหลัง 12 ธ.ค. ถึงคราว สภาฯต้องถกของจริงกันแล้วว่า จะ “เอา-ไม่เอา”-“เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” กับ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม”

ที่ตอนนี้มีเสนอเข้าสภาฯมาแล้ว รวมกันทั้งสิ้น 4 ร่างพ.ร.บ. อันประกอบด้วย 1.ของพรรคประชาชนหรือก้าวไกลเดิม ที่เสนอไว้นานแล้ว 2.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ 3.ร่างของพรรคเล็กคือ พรรคครูไทยประชาชน ที่ไปรวบรวมลายมือชื่อสส.พรรคอื่นให้มาลงชื่อสนับสนุนฯ และ 4.ร่างของภาคประชาชน ที่เข้าชื่อกันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา 

หลังจากที่ผ่านมา ผ่านไปร่วมปี นับแต่พรรคก้าวไกล ตอนยังไม่โดนยุบพรรค เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นำร่องเข้าสภาฯ เป็นพรรคแรกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จากนั้นพรรคอื่น ก็ค่อยเสนอร่างฯประกบ แต่ที่ผ่านมา กระบวนการยังไม่มีการนำร่างฯมาพิจารณาในสภาฯ ก็เพราะวิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้านเห็นพ้องตรงกันว่า จะรอให้สภาฯพิจารณา “รายงานผลการศึกษาการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม..ฉบับของชูศักดิ์” ไปก่อน เพราะเป็นมติร่วมกันของสภาฯ ในการให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯชุดดังกล่าวขึ้นมา เพื่อไปทำความเห็น ฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายในเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ก่อนที่สภาฯ จะพิจารณาเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นเมื่อ สภาฯพิจารณารายงานดังกล่าว ไปแล้วเมื่อวันพฤหัสที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เปิดสภาฯสมัยหน้า ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้สภาฯเอาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ขึ้นมาพิจารณาและโหวตกันเสียที จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน  

มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ฉบับ เป็นของพรรคการเมือง 3 พรรค ของภาคประชาชน 1 ร่าง จ่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดวันที่ 12 ธ.ค. คงต้องไปถกเถียงกันว่าสุดท้ายจะเอาอย่างไร อันนี้แหละคือร่างจริงๆแล้ว” ชูศักดิ์บอกไว้เมื่อ 25 ต.ค.

สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ร่างดังกล่าว จะพบว่าเนื้อหาหลักๆ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก หลักการใหญ่คือให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 คือตั้งแต่ยุคเสื้อเหลือง-พันธมิตรฯ เพียงแต่รายละเอียดอาจแตกต่างกันไปบ้าง

แต่จุดใหญ่ที่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ร่างต่างกันก็คือ ในร่างของพรรคก้าวไกลเดิมหรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน พ่วงไปให้ล้างผิดคดีมาตรา 112 ด้วย เพียงแต่อาจไม่ได้เขียนตรงๆ แต่ร่างของภาคประชาชน ที่เคลื่อนไหวยื่นร่างเข้าสภาฯโดยมีเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเป็นแกนนำ เขียนชัดเจนว่า ให้นิรโทษกรรมคดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ส่วนร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ให้นิรโทษกรรมคดี 112 เช่นเดียวกับร่างของพรรคเล็ก ครูไทยประชาชน

สรุปได้ว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ 4 ร่างดังกล่าว จึงเท่ากับ “ไม่นิรโทษกรรม 112” สองร่าง และอีกสองร่าง “ให้นิรโทษกรรมคดี 112”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้าน มีสส.อยู่ 138 คน อีกทั้งแนวร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเอง อย่าง “พลังประชารัฐ” สายบ้านป่ารอยต่อ 20 เสียง ก็ไม่เอาด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 ดังนั้นจึงยากมากที่ร่างนิรโทษกรรมของพรรคประชาชน จะผ่านสภาฯในวาระแรก เช่นเดียวกับร่างของภาคประชาชน ก็คงยากที่สภาฯจะโหวตให้ เว้นแต่พรรคฝ่ายรัฐบาล อย่าง “เพื่อไทย” จะเอาด้วย

ซึ่งตอนแรก หลายฝ่ายก็มองว่า “เพื่อไทย” อาจจะเอาด้วยก็ได้ เพราะ ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทย ปัจจุบันเป็นจำเลยคดี 112 ที่ศาลอาญาอยู่ ดังนั้นหาก “เพื่อไทย” ไม่อยากให้ “ทักษิณ” โดนตลบหลัง ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดคดี 112 ก็อาจผสมโรงเอาด้วยกับพรรคประชาชนแบบเจือผสมไป โดยอ้างเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ต้องการคืนโอกาสให้กับประชาชนและเยาวชนอดีตแกนนำม็อบสามนิ้วหลายคนที่ลี้ภัยไปต่างประเทศได้กลับประเทศไทย

หากมีการล้างผิดคดี 112 พ่วงไปด้วยกับการนิรโทษกรรม คดีการเมืองทั้งหมดแบบล็อตใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันที่กฎหมายประกาศใช้ เรียกว่า “วิน-วิน” กันหมด ทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส.-ม็อบสามนิ้ว และ “ทักษิณ” จะได้ไม่ต้องกังวลใจเรื่องคดี 112 ที่ทำให้ขยับอะไรได้ยาก จะเดินทางออกนอกประเทศ ศาลอาญาก็ไม่ให้ไป

อย่างไรก็ตาม จากมติของที่ประชุมสภาฯ เมื่อ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่เสียงส่วนใหญ่ของสภาฯคือ 269 เสียง ลงมติ “คว่ำข้อสังเกต” ในรายงานของกมธ.วิสามัญศึกษาการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่มีเนื้อหาบางส่วน เหมือนเป็นการผูกมัดให้รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ-ดีเอสไอ-อัยการ ในการสั่งคดีทางการเมืองและคดี 112 โดยมีสส.เพื่อไทย 115 คน ร่วมลงมติไม่เอาด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยมีสส.เพื่อไทยแค่ 11 คนไปร่วมโหวตเห็นชอบ

ท่ามกลางข่าวว่า มีสัญญาณจากแกนนำเพื่อไทยที่อยู่นอกพรรค ให้สส.เพื่อไทย โหวตไม่เอาข้อสังเกตดังกล่าว ทั้งที่เดิม สส.เพื่อไทยเตรียมโหวตเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตให้คณะรัฐมนตรี

ท่าทีดังกล่าวของสส.เพื่อไทยเสียงส่วนใหญ่ จึงแสดงให้เห็นว่า “นายใหญ่-แกนนำพรรคเพื่อไทย” คงไม่อยากให้กลายเป็นประเด็นการเมือง และกลายเป็นข้อผูกมัดทางการเมือง ให้คณะรัฐมนตรี-ฝ่ายบริหาร ต้องทำตามข้อสังเกตตามรายงานของกมธ.ฯ ที่ส่งมาด้วย “มติเสียงข้างมากของสภาฯ” ดังนั้นเลยตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลงมติไม่เห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตดังกล่าวไปให้รัฐบาล จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว

จุดนี้ก็เป็นสัญญาณการเมืองได้อย่างดีว่า “ทักษิณ-แกนนำพรรคเพื่อไทย” คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนิรโทษกรรมและการล้างผิดคดี 112

ที่ก็คือ ไม่เอาด้วยกับการล้างผิด-นิรโทษกรรมคดี 112 นั่นเอง เพราะเกรงจะเป็นประเด็น ให้มีการนำไปปลุกม็อบออกมาต่อต้านสภาฯ ต่อต้าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ได้หากไปแตะเรื่อง 112 ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เลยแสดงท่าทีตั้งแต่แรกว่า ไม่เอาด้วยทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้ “รัฐบาลแพทองธาร” ไปก่อนเวลาอันควร หากทำเรื่องที่จะเป็นเชื้อไฟทางการเมือง ให้เกิดกระแสต่อต้านนอกสภาฯ จนไปซ้ำรอยนิรโทษกรรมสุดซอยสมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นั่นเอง

ดังนั้น เรื่องอะไรที่เป็นประเด็นอ่อนไหวการเมือง ง่ายต่อการสร้างกระแสไม่พอใจรัฐบาลแพทองธาร “ทักษิณ-เพื่อไทย” จึงถอดชนวนหรือไม่เข้าไปใกล้ทั้งสิ้น ถีบออกพ้นตัวให้หมด

จึงไม่แปลกที่ มติของสภาฯไม่เอาด้วยกับข้อสังเกตของกมธ.ฯ ในเรื่องการให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรม

พูดง่ายๆ มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร เผลอๆ ก็ให้วิปรัฐบาล ดึงเรื่องการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯไปเรื่อยๆ เรียกว่า “ดึงให้ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้” แต่หากถึงเวลาต้องมาพิจารณาจริงๆ ก็อาจไม่ร่วมสนับสนุน ไม่ว่าร่างใดทั้งสิ้น และอีกวิธีที่ทำได้เนียนๆ ก็คือ ให้สส.เพื่อไทยเข้าชื่อกันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าประกบในสภาฯ แต่เป็นร่างที่มีเนื้อหาเบาบางมากที่สุด ไม่มีประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองใดๆ ให้เกิดการต่อต้านได้ และแน่นอน ไม่มีนิรโทษกรรม 112

จากนั้นพอสภาฯ พิจารณาโหวตวาระแรกก็ให้โหวตรับร่างเฉพาะของเพื่อไทยกับร่างของรวมไทยสร้างชาติฯ โดยให้ใช้ร่างของเพื่อไทย เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระสองและวาระสาม โดยให้โหวตคว่ำร่างของพรรคประชาชนและร่างของภาคประชาชน ตั้งแต่วาระแรก

เพียงเท่านี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ก็เพลย์เซฟการเมือง เรื่องนิรโทษกรรม และคุมเกมได้อยู่หมดว่าจะให้เนื้อหาในกฎหมายออกมาทางไหน โดยไม่ต้องเจอความเสี่ยงจะไปซ้ำรอย “นิรโทษกรรมสุดซอย” แบบในอดีต

…………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย……“พระจันทร์เสี้ยว”                                            

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img