วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS7 อรหันต์กสทช.ชุดใหม่ เห็นเงา “ประธานฯ” มาแต่ไกล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

7 อรหันต์กสทช.ชุดใหม่ เห็นเงา “ประธานฯ” มาแต่ไกล

หนึ่งในคณะกรรมการ-องคพายพ ที่คลอดออกมายากที่สุดในยุคนี้ ต้องยกให้”คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. “ที่เป็น คณะกรรมการฯ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการบริหารคลื่นความถี่วิทยุ-โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ ที่มี”ขุมทรัพย์-ผลประโยชน์เป็นแสนล้าน”จนใครต่อใครเรียกขาน”อรหันต์กสทช.”

ความล่าช้าในการทำคลอด กสทช.ชุดใหม่ ดูได้จาก กสทช.ชุดรักษาการปัจจุบัน ซึ่งตามกฎหมายให้มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกินหกปี ซึ่งชุดรักษาการเวลานี้ ต้องหมดวาระตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่ที่ผ่านมา กระบวนการสรรหา-คัดเลือก-เห็นชอบ ติดขัดหลายอย่างในยุค คสช.เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผนวกกับในยุคคสช.มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ในลักษณะต่ออายุให้กสทช. ด้วย

เลยส่งผลให้ กสทช.ชุดรักษาการเวลานี้เลยได้อานิสงส์อยู่ยาวจน “รากงอก” จนกรรมการบางคน ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะอายุครบกำหนดอย่างเช่น พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี อดีตประธานกสทช.ที่อายุครบ 70 ปี รวมถึงบางคนก็ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวเช่น สุภิญญา กลางณรงค์ ที่ลาออกหลังเกิดปัญหาคดีความส่วนตัวสมัยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณที่ลาออกไปเล่นการเมืองจนได้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ภูมิใจไทย

ทำให้เวลาผ่านไปหลายปี จนถึงขณะนี้ การสรรหา กสทช.มาทำหน้าที่แทน แบบเต็มคณะชุดใหม่ ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะติดขัดหลายอย่าง จนต้องมีการแก้ไข กฎหมาย กสทช. ที่ประกาศใช้เมื่อมีนาคม 2564 เพื่อปิดช่องโหว่ เรื่องการเลือกกสทช. รวมถึงยังมีกระแสข่าวเรื่อง รายชื่อที่ผ่านมาการสรรหาเข้าไปถึงรอบสุดท้าย ไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม เลยมีการส่งซิกเพื่อทำให้ กระบวนการเลือกกสทช.กลับไปรีเซ็ตใหม่โดยใช้เหตุผลเรื่องคนที่ผ่านการคัดเลือก มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ

ปัจจัยข้างต้น ทำให้หลายปีที่ผ่านมาจึงเกิดปรากฏการณ์ “ล้มกระดาน” การเลือกกสทช.มาแล้ว ถึงสามครั้ง ทั้งในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภา ชุดปัจจุบัน ทำให้กสทช.ชุดรักษาการตอนนี้ ที่กินเงินเดือน-ค่าตอบแทนต่างๆ เดือนละหลักขั้นต่ำเฉียดสองแสนกว่าบาทต่อเดือน ได้อยู่ในตำแหน่งแบบยาวๆ 

ดังนั้น เมื่อกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดล่าสุด ที่คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกเสร็จแล้ว และมีการส่งชื่อ “7 อรหันต์ว่าที่กสทช.ชุดใหม่” ไปให้วุฒิสภาพิจารณา โดยล่าสุดที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 13 กันยายน มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกสทช.

ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะคนในวงการกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จึงจับตามองกันว่า รอบนี้จะมีการล้มกระดานการเลือก กสทช. ซ้ำรอยเดิมอีกรอบหรือไม่ ?

ย้ำกันอีกรอบ 7 ว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ที่ถูกส่งชื่อไปให้ วุฒิสภา พิจารณาเห็นชอบ  ประกอบด้วย

1.ด้านกิจการกระจายเสียง คือ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

2.ด้านกิจการโทรทัศน์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต

3.ด้านกิจการโทรคมนาคม คือ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ

4.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือ ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

5.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ นายต่อพงศ์ เสลานนท์

ส่วนด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. นั้นประกอบด้วยด้านกฎหมาย คือ ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ และด้านเศรษฐศาสตร์ คือ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย

ท่ามกลางกระแสข่าวร่ำลือกันในหมู่สว.-สภาสูงว่า การเห็นชอบ กสทช.ชุดนี้ น่าจะเรียบร้อยดี ไม่น่าจะมีการล้มกระดานอีกแล้ว แม้บางรายชื่อที่ไปสมัคร ซึ่งเป็นชื่อที่ผู้มีอำนาจบางคนที่ต้องการส่งคนของตัวเองไปเป็น กสทช. แต่กลับหลุดโผ กรรมการสรรหาฯไม่เลือกเข้าไป เลยทำให้มีข่าวว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจบางส่วนที่มีเครือข่ายในสว. ไม่ค่อยพอใจนัก แต่ทว่า เมื่อมาถึงขั้นนี้ การที่กสทช.คลอดยากคลอดเย็น มีความล่าช้าไปมาก เลยทำให้มีข่าวว่าฝ่ายผู้มีอำนาจบางส่วน ก็ไม่คิดจะขวางทางการเลือกกสทช.แล้ว

เพราะหากการเลือกกสทช.ล่าช้าออกไปอีก มันก็อาจส่งผลในทางการเมืองตามมาได้ ด้วยต้องไม่ลืมว่า กสทช.ชุดรักษาการเวลานี้ อยู่ในช่วง

“สุญญากาศ-รอส่งไม้ต่อให้กสทช.”

การจะตัดสินใจ เรื่องสำคัญๆ จึงทำได้ไม่เต็มที่ เพราะอาจเสียงวิจารณ์หรือการร้องเรียนตามมา

ดูได้จากกรณี การประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่ก่อนหน้าทาง กสทช.จะล้มการประมูลไปเมื่อ 18 ส.ค.เพราะมีเอกชนเข้าประมูลรายเดียว

ปรากฏว่า “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เคยทำหนังสือถึงกสทช.ชุดรักษาการเพื่อขอให้ พิจารณาชะลอการประมูลด้วยเหตุผลหลายอย่าง ที่สำคัญได้ออกมาให้สัมภาษณ์ย้ำว่า กสทช.ชุดปัจจุบันยังเป็นชุดรักษาการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่

ที่พูดง่ายๆ ก็คือ รมว.ดีอีเอส เห็นว่า การประมูลโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ ที่มีเรื่องของสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 ควรให้กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการจะดีกว่า

อันนี้แค่ตัวอย่างโครงการเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า หลายฝ่าย เล็งเห็นแล้วว่า การบริหารจัดการโดยเฉพาะการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของกสทช. ควรปล่อยให้กสทช.ชุดใหม่เข้ามาบริหารจัดการจะเหมาะสมกว่า ให้กสทช.ชุดรักษาการที่เข้ามาด้วยกฎหมายเก่า ไม่ใช่กฎหมายกสทช.ฉบับที่ใช้ปัจจุบัน เป็นผู้ตัดสินใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ สว.บางส่วน มองเห็นแล้วว่า การจะไปล้มกระดานรายชื่อ 7 ว่าที่กสทช.ที่ส่งมาให้วุฒิสภา  คงเกิดขึ้นได้ยากแล้ว อย่างมาก ก็อาจเพียงแค่ สว.โหวตไม่เห็นชอบบางรายชื่อ จนทำให้ชื่อดังกล่าวถูกตีตกไป และต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่  เพราะหากวุฒิสภา ไปล้มกระดานทั้งหมด ฝ่ายที่จะเสียหายมากที่สุด คงไม่พ้น “วุฒิสภา”นั่นเอง หากไม่มีเหตุผลไปอธิบายต่อสังคม ยิ่งหากมีเสียงร่ำลือทำนองมีการ “ล็อบบี้” ให้สว.ล้มกระดาน ก็จะยิ่งส่งผลต่อสว.ได้ว่า รับใบสั่งมาล้มกระดาน  

ด้วยเหตุนี้ เมื่อดูจากขั้นตอนต่างๆ หลังวุฒิสภามีการตั้งคณะกรรมาธิการมาตรวจสอบประวัติฯ ทั้ง 7 รายชื่อแล้ว เป็นไปได้ว่า เปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ช่วงเดือน พ.ย.2564-มี.ค.2565 กรรมาธิการฯ คงจะสรุปรายงานผลการตรวจสอบฯ เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ รายชื่อ 7 อรหันต์ว่าที่กสทช.ชุดใหม่ได้

ทั้งนี้ตามกฎหมาย หากวุฒิสภาโหวตเห็นชอบแค่ 5 ชื่อ ก็ถือว่า กสทช.ชุดใหม่ เข้าปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องครบ 7 คน จากนั้นก็ค่อยไปสรรหามาใหม่ให้ครบเจ็ดคนต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าวร่ำลือในแวดวง สภาสูงว่า ตอนนี้บางคนมองไปข้างหน้า ถึงรายชื่อ

“ตัวเต็ง-แคนดิเดทประธานกสทช.คนใหม่”

กันแล้วว่าใน 7 ชื่อดังกล่าว มีบางคนน่าจะเข้ารอบสุดท้ายแบบแบเบอร์ และน่าจะมีโอกาสได้ลุ้นเก้าอี้ประธานกสทช.ค่อนข้างสูง ข่าวบอกว่า เวลานี้ มีการเก็งกันไว้ 3 ชื่อ โดย ชื่อแรก เป็นคนในตึกกสทช.หรือลูกหม้อกสทช.ตอนนี้นั่นเอง คนที่สอง เป็นอดีตผู้บริหารกิจการสายงานด้านโทรคมนาคม และ คนที่สาม ที่เข้ารอบมา ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในวงการด้านวิทยุโทรทัศน์-กิจการโทรคมนาคม แต่เป็นที่รู้กันว่า คอนเน็คชั่นแน่นปึ๊กกับฝ่ายกุมอำนาจในปัจจุบัน จนถูกมองว่ามีโอกาสสูงจะเป็นประธานกสทช.ชุดใหม่

หากสุดท้าย ไม่มีอะไรพลิกโผ การเห็นชอบ รายชื่อ กสทช.ชุดใหม่เป็นไปโดยราบรื่น โดยชื่อตัวเต็งประธานกสทช.ติดเข้ารอบไปด้วย ก็น่าจะชัวร์ว่า ชื่อดังกล่าว รอเข้าไปนั่งในห้องประจำตำแหน่ง ประธานกสทช. ในตึกสำนักงานกสทช.ที่ซอยสายลม ได้เลย เพราะโอกาสพลิกโผ น่าจะยากแล้ว

……………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img