วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS7แสนเสียง“นิวโหวตเตอร์”ใครได้เยอะ ชื่อนั้นได้ลุ้นเป็น “ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

7แสนเสียง“นิวโหวตเตอร์”ใครได้เยอะ ชื่อนั้นได้ลุ้นเป็น “ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่”

ถึงตอนนี้ “ว่าที่ผู้สมัคร” ชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกทม.” ที่จะเปิดรับสมัครกันวันแรก พฤหัสบดีนี้ 31 มีนาคม ไปจนถึง 4 เมษายน คงไม่มีชื่อระดับบิ๊กเนมออกมาอีกแล้ว เพราะที่เปิดตัว-เปิดหน้ากันออกมา เลือกตั้งรอบนี้ถือว่า มีสีสัน เข้มข้น เร้าใจมาแต่ไกล

ในทางการเมือง มีการแบ่งกลุ่ม ว่าที่ผู้สมัครรอบนี้ออกมาเป็นสองปีก-สองขั้ว โดยใช้การเมืองระดับชาติ มาเป็นเกณฑ์พิจารณา

ที่ก็เชื่อว่า ตรงใจใครหลายคนไม่น้อย เพราะแม้จะต่อให้มีการมองกันว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นเรื่องของการเมืองท้องถิ่น แต่ต้องยอมรับความจริงว่า อารมณ์-ความรู้สึกทางการเมืองของประชาชนชาว กทม. ที่เป็นพื้นที่ซึ่งไวต่อข่าวสารและความรู้สึกทางการเมืองอยู่แล้ว ก็ถูกมองว่า ยังไง “คนกทม.” ก็ยังน่าจะใช้อารมณ์ความรู้สึกของการเมืองระดับชาติ มาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครไปเป็น “ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่”

เพราะยังไงเสีย คิดง่ายๆ เช่น คนที่ชอบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-ไม่ชอบม็อบสามนิ้ว-ไม่ชอบทักษิณ ชินวัตร-ต่อต้านพรรคเพื่อไทย-ชิงชังพรรคฝ่ายค้าน คนกทม.กลุ่มนี้ คงไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครอย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หรือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากพรรคก้าวไกล…แน่นอน

คือหากถามว่า จะเกิดกรณีแบบคนไม่ชอบม็อบสามนิ้ว ไม่ชอบฝ่ายค้าน จะไปเลือกผู้สมัครอย่าง “วิโรจน์” จากก้าวไกลได้หรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าก็อาจมีบ้าง แต่เชื่อเถอะ น่าจะมีไม่กี่เปอร์เซนต์หรือน้อยมาก ที่จะสวิงแบบสุดขั้วไปเลยแบบนั้น หากจะสวิงเลย ก็น่าจะออกไปในทางเลือก “ชัชชาติ” มากกว่าที่จะไปเลือก “วิโรจน์”

ด้วยสถานการณ์และอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองแบบนี้ ที่ “คนกทม.” ยังอาจใช้การเมืองระดับชาติ มาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม. ทำให้ มีการแบ่ง “ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.” ออกเป็นสองขั้วได้แบบชัดๆ

ขั้วแรก ก็คือ ขั้วของฝ่าย “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ด้วยมาตรา 44 โดยการตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็นหัวหน้า คสช. ควบนายกฯ จนอยู่ยาวมาถึง 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ก่อนจะลาออกเพื่อจะไปลงสมัครผู้ว่าฯกทม.แบบอิสระ-“สกลธี ภัททิยกุล” อดีตรองผู้ว่าฯกทม.-“สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” หรือ “ดร.เอ้” จากประชาธิปัตย์ และ “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสว. ที่ลงอิสระ

ส่วน อีกขั้ว ก็คือฝ่าย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรมว.คมนาคม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แน่นอนว่า แม้ “ชัชชาติ” จะลงอิสระและหาเสียงมาร่วมสองปี แต่ยังไงเสีย “ชัชชาติ” ก็คงหนีเงาของพรรคเพื่อไทยไม่พ้น-“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากพรรคก้าวไกล และ “น.ต.ศิธา ทิวารี” จากพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่กลายเป็นชื่อที่แกนนำไทยสร้างไทย เคาะออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแบบสดๆ ร้อนๆ ทำให้ “น.ต.ศิธา” มีเวลาในการเตรียมตัวหาเสียง ช้ากว่าคนอื่น แต่หากดูจากการวางหมากทางการเมืองของ “เจ๊หน่อย-สุดารัตน์” ว่ากันตามจริง คงไม่ได้หวังผลให้ “ผู้พันปุ่น” ชนะมากนัก แต่น่าจะส่งลงเพราะต้องการเช็คเรตติ้งของไทยสร้างไทยใน กทม.ที่เป็นพื้นที่หลักของพรรคในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมากกว่า รวมถึงเพื่อเป็นการรักษาคำพูดที่ “เจ๊หน่อย” ประกาศมาตลอดว่า ส่งคนลงแน่ ท่ามกลางเสียงกังขาว่า “เจ๊หน่อย” อาจไม่ส่ง แต่สุดท้ายก็ส่งจนได้

ผลก็คือ ทั้งสองขั้ว ผู้สมัครแต่ละคน ก็จะต้องตัดคะแนนกันเอง อย่าง “ชัชชาติ” ว่ากันตามตรง หากพรรคก้าวไกล ที่มีฐานเสียงในกทม.ระดับหนึ่ง รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมพรรคสีส้ม ตัดสินใจไม่ส่งคนลงสมัคร มันก็ทำให้ โอกาสที่ “ชัชชาติ” จะลอยลำมีสูง

ยิ่งหากดูอีกฝ่าย ที่มีคนลงสมัครในกลุ่มนี้ถึง 4 คนคือ “พล.ต.อ.อัศวิน-สกลธี-ดร.เอ้-รสนา” ที่จะตัดคะแนนกันเองแบบเบี้ยหัวแตก จนทำให้ฝ่าย “ชัชชาติ” จะยิ่งลอยลำขึ้นไปอีก แต่เมื่อก้าวไกลส่ง “วิโรจน์” และ “เจ๊หน่อย” ที่แม้จะไม่หวังชนะ แต่ดูแล้วก็น่าจะได้เสียงจากคนกทม.จำนวนหนึ่ง ที่ก็จะมาตัดคะแนน “ชัชชาติ” ไปด้วย

มันเลยทำให้ “ชัชชาติ” น่าจะหนักใจพอสมควร ในการที่ต้องสู้กับอีกฝ่ายอย่างหนักแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องกังวลทั้ง “วิโรจน์” และ “น.ต.ศิธา” จะมาตัดคะแนนฝ่ายตัวเองไปกี่แสนคะแนน จนทำให้คะแนนอาจหลุดจากเป้าที่คาดการณ์ไว้ ที่ทำให้…จากที่เคยคิดว่าจะชนะแบบลอยลำ สุดท้ายอาจต้องลุ้นเหนื่อยจนถึงวันเลือกตั้งก็ได้

อย่างมุมวิเคราะห์ของ “สกลธี” ว่าที่ผู้สมัครอิสระ ที่มีข่าวออกมาตลอดว่าได้รักการแบ็คอัพจากส.ส.เขตพลังประชารัฐ และหัวคะแนนจัดตั้งของคนพลังประชารัฐในหลายเขตทั่วกทม. ก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ก่อนหน้านี้ ถึงเรื่อง “การตัดคะแนนกันเอง” ของกลุ่มผู้สมัครสองปีกไว้อย่างน่าสนใจ

“ถ้าให้วิเคราะห์คะแนนในส่วนของกรุงเทพมหานคร ก็ยังเป็นสองส่วนคือ เพื่อไทยเดิม กับ ประชาธิปัตย์เดิม อาจจะมีตรงกลางๆ อยู่บ้าง แต่หลักๆ ก็จะมีแค่ ซ้ายกับขวา มีซ้ายกับขวา ฝั่งหนึ่งก็จะมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” “วิโรจน์” จากก้าวไกล และไทยสร้างไทย ที่จะส่ง “น.ต.ศิธา ทิวารี”

ส่วนอีกฝั่ง ก็จะมี “ดร.เอ้” จากประชาธิปัตย์ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” “คุณรสนา โตสิตระกูล” รวมถึง “ตัวผม” ก็แบ่งกันชัด

แต่สองฝั่งนี้ก็อาจมีไฮบริดลูกผสม ข้ามไปข้ามมาได้ แต่ว่าที่จะเลือกแบบไฮบริด ผมว่า เปอร์เซนต์น้อยมาก อาจจะแค่ 10-20 เปอร์เซนต์ เลยทำให้มีโอกาสชนะกันทุกคน ซึ่งเมื่อก่อนคนที่จะได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ต้องได้ประมาณ 1,200,000 คะแนน หรือ 1,000,000 คะแนน ถึงจะได้เป็น แต่คราวนี้ผมมองว่า 6-7 แสนคะแนน ก็ได้เป็นแล้ว เพราะเนื่องด้วยแต่ละคนที่ลง มีฐานคะแนนของตัวเองชัดเจน และจะตัดคะแนนกันอย่างมากเลย อยู่ที่ว่าใครจะตัดใครมากกว่ากัน

“ซึ่งเป้าของแต่ละฝั่ง คงต้องเอาแฟนคลับของฝั่งตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วก็แย่งคะแนนจากคนที่เป็นกลางๆ เช่น กลุ่ม New Voter หรือ First Time Voter ที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในรอบนี้ ที่มีประมาณ 7-8 แสนคน”…“สกลธี” วิเคราะห์ไว้ผ่านสื่อถึงสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกทม.ในรอบนี้ มีรวมกันประมาณ 4,479,208 คน โดยพบว่า จะมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรก หลังที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาร่วม 9 ปี ที่เรียกกันว่า First Time Voter ที่มีอายุ 18-27 ปี ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 700,000 คน

ดังนั้น หากเอาอย่างที่ “สกลธี” วิเคราะห์ก็คือ หากแคนดิเดตผู้สมัครของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะระดับตัวเต็งจริงๆ ที่มีเสียงของตัวเองประมาณหนึ่ง คือประมาณขั้นต่ำมีอยู่ประมาณ 350,000-400,000 คะแนนแบบชัวร์ๆ แล้วสามารถไปเอาคะแนนจากกลุ่ม New Voter หรือ First Time Voter มาได้สักครึ่งหนึ่ง เช่น 350,000 คะแนน ก็จะได้เท่าร่วมๆ 700,000 คะแนน หากทำได้ตามนี้ หรือถ้าให้ดี ทำให้ได้สัก 750,000 คะแนนยืนพื้น ก็มีโอกาสไม่น้อย ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯกทม. ในการเลือกตั้งรอบนี้ ก็เป็นไปได้

กลุ่ม New Voter หรือ First Time Voter หรือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในรอบนี้ จึงอาจเป็นกลุ่มที่จะเป็นตัวแปรชี้ขาดผลการเลือกตั้ง “พ่อเมืองกรุงเทพฯ” รอบนี้เลย…ก็ว่าได้

……………………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img