วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSข้อพิพาทน่านฟ้า“ไทย-เมียนมา” ช่วย“ดัน” หรือ“ดับฝัน”ทอ.ซื้อ F-35
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ข้อพิพาทน่านฟ้า“ไทย-เมียนมา” ช่วย“ดัน” หรือ“ดับฝัน”ทอ.ซื้อ F-35

“เขาขอโทษมาแล้ว-เขาไม่ได้ตั้งใจ-ไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โต”

คำพูดข้างต้น คือท่าทีแบบตัดบทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่หวังให้เรื่อง กรณีเครื่องบินรบ Mig 29 ของประเทศเมียนมา บินล้ำเข้ามาในเขตดินแดนประเทศไทย ที่ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. จบลงโดยเร็ว ไม่อยากให้เป็นประเด็นข้อพิพาทต่อไป

ที่สาเหตุก็คงเพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่เป็นอดีตบิ๊กทหารมาก่อน ไม่อยากให้เรื่องนี้บานปลาย จากประเด็นการเมืองในประเทศ รวมถึงกระแสความรู้สึกของประชาชนในประเทศ ถูกขยายผลกลายเป็นประเด็นการเมือง-ข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา ที่จะไปส่งผลกระทบในทาง

“การทูต-การทหาร” ระหว่าง “ไทยกับเมียนมา” ได้นั่นเอง

เพราะหลังเกิดกรณีดังกล่าว แม้ในระดับทางการทูตและทางทหาร ฝ่ายผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศเมียนมา จะมีการขอโทษ และรีบมาเคลียร์เรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ในแง่การเมืองและการแสดงออกของประชาชนในบริบทต่างๆ ทั้งผ่านสื่อและทางโซเชียลมีเดีย ยังไงฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาและสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ต้องรู้และมีการรายงานถึง “ผู้นำทหารของเมียนมา” ทันที

ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ คงอยากให้เรื่องนี้จบสิ้นกระแสความโดยเร็ว ไม่อยากให้บานปลาย กลายเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันทั้งในระดับรัฐบาล-กองทัพและประชาชน ไทยกับเมียนมา ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน

เรื่องนี้ มีการประเมินว่า ในทางการเมือง แม้หลังเกิดเหตุ ทางฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยเฉพาะนักการเมืองจากฝ่ายค้านทั้ง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” และ “นักเคลื่อนไหวการเมือง” จะไม่พลาดโอกาสที่จะใช้สถานการณ์นี้ “ดิสเครดิตรัฐบาล” และ “ด้อยค่ากองทัพอากาศ” ในมุมว่า ปล่อยให้เมียนมา มาล่วงล้ำดินแดนประเทศไทย อีกทั้งระบบการป้องกันและเตือนภัยของกองทัพ รวมถึงการตอบโต้ของกองทัพอากาศในการส่งเอฟ 16 ไปสกัดกั้น ก็ตัดสินใจล่าช้าเกินไป แม้จะพบว่า ฝ่ายกองทัพอากาศจะยืนยันว่า ไม่ได้ล่าช้าและทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนของกองทัพ

อย่างไรก็ตาม หากถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยเฉพาะส.ส.พรรคฝ่ายค้าน จะนำไปเป็นประเด็นเพิ่มเติมในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นช่วง 19 ก.ค.นี้เป็นต้นไปหรือไม่

เรื่องนี้ มองได้ว่า “ฝ่ายค้าน” ก็คงต้องคิดหนัก เพราะกว่าจะไปถึงช่วงซักฟอก เรื่องก็คงซาลงไปแล้ว และที่สำคัญ ฝ่ายค้าน ก็ต้องชั่งใจเหมือนว่า หากนำเรื่องนี้ไปขยายผลเป็นประเด็นการเมือง จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ ในเมื่อฝ่าย “เมียนมา” ได้มีการขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

โดยหากฝ่ายค้านประเมินแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นประเด็นอ่อนไหว อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ อีกทั้ง ประเด็นไม่แรงพอ ก็อาจไม่มีการนำไปอภิปรายในสภาฯก็ได้ เพราะลำพังใช้ช่องทางต่างๆ เช่น ตั้งกระทู้สด ถามพล.อ.ประยุทธ์กลางสภาฯก่อนศึกซักฟอก ก็อาจเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ ผลพวงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นผลในเชิง “บวก” หรือ “ลบ”

ต่อความพยายามของทัพฟ้า-กองทัพอากาศ ในยุคที่ “พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์” เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่แสดงออกชัดเจนมาตลอดว่า ต้องการให้ “รัฐบาล-กระทรวงกลาโหม” สนับสนุนการจัดซื้อ “เครื่องบินขับไล่ F-35” ที่ผลิตโดย บริษัท Lockheed Martin ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแวดวงทหารยกให้เป็นเครื่องบินรบที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมในยุคพล.อ.ประยุทธ์ นั่งควบนายกฯและรมว.กลาโหม ก็สนับสนุนเต็มสูบ มีการตั้งงบประมาณเพื่อเดินหน้าจัดซื้อ F-35 ที่ใช้งบประมาณร่วมเจ็ดพันกว่าล้านบาทไว้แล้ว ที่เป็นงบนำร่องประมาณเจ็ดร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งอยู่ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 อันเป็นงบผูกพันข้ามปี

บนคำยืนยันของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ “พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล” รมช.กลาโหม ที่เคยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ของกองทัพอากาศไว้ตอนประชุมสภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ 2566 ฯ

“การจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ยืนยันกระทรวงกลาโหมมีความจำเป็นที่จะจัดหาเข้ามา เพราะมีภารกิจสำคัญในการป้องกันประเทศ เพื่อรักษาอธิปไตย ซึ่งเป็นภารกิจของกองทัพอากาศที่สำคัญ แม้ว่าปัจจุบันจะมีอยู่หลายแบบ แต่ก็ถูกจำกัด และเครื่องบินที่มีขีดความสามารถบางเครื่องใช้งานมาเป็นเวลานานถึง 41 ปี เฉลี่ยที่มีอยู่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจมาแล้วถึง 28 ปี มีความจำเป็นจะต้องทยอยปลดประจำการ เนื่องจากไม่สามารถหาชิ้นส่วนอะไหล่เข้ามาทดแทน หรือซ่อมบำรุงไม่คุ้มค่า จึงได้มีการปลดประจำการไปตั้งแต่ปี 2564 ทำให้กองทัพอากาศมีเครื่องบินสกัดกั้นโจมตีอยู่ในระดับไม่เพียงพอต่อการปฎิบัติภารกิจ อาจจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องการป้องกันประเทศได้” พล.อ.ชัยชาญ รมช.กลาโหม แจงกลางที่ประชุมสภาฯตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เมื่อ 31 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา

ส่วนที่ว่าสุดท้ายแล้ว “กองทัพอากาศ” จะได้หรือไม่ได้ งบจัดซื้อ F-35 ดังกล่าวลำดับแรก ต้องลุ้นว่า ในการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของสภาฯ และตอนสภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 2566 วาระสอง สุดท้ายแล้วฝ่ายสภาฯจะทำให้ความหวังของ “พล.อ.อ.นภาเดช” ที่เชียร์ ให้กองทัพอากาศ มี F-35 ไว้เป็นแสนยานุภาพของทัพฟ้ามาตลอด จะสำเร็จหรือไม่

ที่ก็อาจไม่ง่าย เพราะที่ผ่านมา “ฝ่ายค้าน” ก็พยายามขวางงบจัดซื้ออาวุธของกองทัพมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ โดยยกประเด็นเรื่อง เหตุผล-ความจำเป็น ในการสกัดกั้นการตั้งงบจัดซื้ออาวุธ และยิ่งตอนนี้ ประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ-ของแพง-ค่าครองชีพสูง ว่าไปแล้ว ฝ่ายค้านก็ยิ่งมีความชอบธรรมทางการเมือง ในการขวางงบซื้ออาวุธของกองทัพมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหากฝ่ายค้าน สร้างกระแสทำนอง “คนทั้งประเทศกำลังจะอดตาย แต่กองทัพจะเอาแต่ซื้ออาวุธ ที่ไม่รู้จะไปรบกับใคร” เจอเข้าไปแบบนี้ “บิ๊กทหาร” ก็หืดขึ้นคอแล้วในการลุ้นให้สภาฯ ไม่ตัดงบซื้ออาวุธ

อย่างไรก็ตาม กับกรณีเครื่องบินรบ Mig 29 ของเมียนมา บินล้ำเข้ามาในเขตดินแดนประเทศไทย แล้วกองทัพอากาศส่ง F-16 ไปบินตอบโต้ มันก็เป็นเรื่องที่คิดได้สองมุมเช่นกันกับการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ-35

คือในมุมบวกกับกองทัพอากาศ อาจหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาสนับสนุนว่า เห็นหรือยังว่า การป้องกันประเทศ เพื่อรักษาอธิปไตย เป็นเรื่องสำคัญ กองทัพต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา และเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินรบที่กองทัพอากาศมีอยู่ เก่าแล้ว ใช้งานมาเป็นเวลานาน ต้องทยอยปลดประจำการ หากไม่มีการจัดซื้อเข้ามาใหม่ อาจจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องการป้องกันประเทศได้และ F-35 เป็นรุ่นที่ทันสมัย หลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ได้ จึงควรต้องเร่งจัดซื้อ

เรียกได้ว่า อาจเป็นเหตุการณ์ที่เข้าทาง “บิ๊กทัพฟ้า” ก็ได้ ในการทำให้มีการจัดซื้อ F-35 ยิ่งมีน้ำหนัก เหตุผล ความจำเป็นมากขึ้น จนสุดท้ายมีการ “ไฟเขียว” จนทำให้การจัดซื้อฉลุย 

ขณะที่ในมุมตรงกันข้าม บางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและกองทัพ อาจจะแย้งไปในมุมว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่มีเหตุผลความจำเป็นต้องจัดซื้อ ก็ในเมื่อกองทัพอากาศบอกว่า ระบบเรดาร์ตรวจจับกองทัพอากาศมีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งเมื่อ F16 ก็เป็นรุ่นที่มีสมรรถะสูง สามารถบินไปตอบโต้ เครื่องบินรบ Mig 29 ของประเทศเมียนมา ที่เป็นเครื่องบินรถสัญชาติรัสเซียได้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องจัดซื้อ F-35 ให้สิ้นเปลือง ที่ก็คือ ก็จะยกเหตุผลทุกเม็ดมาขวางการจัดซื้อให้ได้ นั่นเอง

พบว่า ท่าทีล่าสุดของ “พล.อ.อ.นภาเดช” ผบ.ทอ.ก็ยังยืนยันเหตุผลความจำเป็นในจัดหาเครื่องบิน F-35 โดยย้ำว่า เป็นโครงการที่จะนำให้เกิดความทันสมัยขึ้นทุกองคาพยพของกองทัพอากาศ เพราะภัยคุกคามที่แท้จริงก็คือความล้าสมัย แม้กองทัพอากาศจะมีความทันสมัยอยู่บ้าง แต่อีก 10 ปี ข้างหน้า จะมีความความล้าสมัยคืบคลานเข้ามาทุกวัน หากไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลต่ออนาคต

สรุปแล้ว โอกาสและความเป็นไปได้ที่โครงการจัดหาเครื่องบิน F-35 ของกองทัพอากาศ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยังต้องลุ้นกันอีกหลายยก

ที่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะงบจัดซื้ออาวุธของทหาร โดยเฉพาะยิ่งใช้งบหลายพันล้านบาท เสียงคัดค้านก็จะยิ่งดัง

ดังนั้น การจัดซื้อ F-35 ของกองทัพอากาศ แม้กระทรวงกลาโหมจะไฟเขียว ตั้งงบเปิดหัวนำร่องไว้แล้ว แต่ของแบบนี้ ก็ไม่แน่ สุดท้ายอาจโดนสกัด จนโครงการถูกสอยร่วงกลางอากาศ ก็ยังเป็นไปได้

……………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img