วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSนับถอยหลัง!!!!...ตีความ“เก้าอี้นายกฯ” กับโอกาสรอด.....“บิ๊กตู่”ได้ไปต่อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นับถอยหลัง!!!!…ตีความ“เก้าอี้นายกฯ” กับโอกาสรอด…..“บิ๊กตู่”ได้ไปต่อ

ชิงซีนไปก่อนแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา สำหรับ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กับการไปยื่นคำร้องให้ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” และ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ด้วยการส่งคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้วินิจฉัยปมปัญหาข้อกฎหมาย

เรื่อง “วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หลังมีข้อถกเถียงกันว่า หลัง 23 ส.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯต่อได้หรือไม่???

เพราะบางฝ่าย โดยเฉพาะ ฝ่ายตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล บอกว่า เป็นต่อไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค.2557 ที่เป็นนายกฯควบหัวหน้าคสช. และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 154 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นนายกฯถึงได้แค่ 23 ส.ค.นี้

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ที่ก็คือ ฝ่ายเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ ก็แย้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯต่อไปได้ อย่างน้อยๆ ก็อีก 3 ปี เช่นหากหลังเลือกตั้งปีหน้า 2566 พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบ ก็จะเป็นได้ถึงปี 2568 ซึ่งฝ่ายที่หนุนสูตรนี้ ให้เหตุผลว่า เพราะการเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ต้องนับจากหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อ 6 เม.ย.2560 ดังนั้นตอนนี้ปี 2565 และเมื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2560 ก็เท่ากับยังเหลือวีซ่า เป็นนายกฯต่อได้อีก 3 ปี

และที่แบบสุดๆ ไปเลย ก็คือ ฝ่ายที่หนุนสูตรว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ ได้อีก 5 ปี เพราะต้องนับตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯรอบสอง เมื่อมิ.ย.2562 หรือหลังการเลือกตั้งเมื่อมี.ค.2562”  เมื่อตอนนี้คือปี 2565 เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ยังเหลือโควต้าเป็นนายกฯได้อีก 5 ปี ดังนั้น หากเลือกตั้งรอบหน้าปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ยังลงต่อ แล้วได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นนายกฯอีกหนึ่งสมัย ก็เท่ากับ ถ้าไม่ยุบสภาฯก่อน พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกฯได้ถึงปี 2570 เรียกได้ว่า เป็นกันจนหายอยากกันไปเลย เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกลางทางเช่นมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น

ทั้งสามสูตร การตีความดังกล่าว แต่ละฝ่ายก็ยกเหตุผล ข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาทำให้น้ำหนักฝ่ายตัวเอง มีความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวที่เถียงกันมาร่วมปี ฝ่ายที่จะตัดสินและชี้ชะตาว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อหรือหยุดแค่ 23 ส.ค. ก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ซึ่งประเมินแล้ว หากมีการส่งคำร้องไปที่ศาลรธน. ฟันธงได้ว่า ศาลรับคำร้องแน่นอน เพียงแต่ที่จะมีปัญหาอยู่ก็คือ ควรจะส่งไปให้ศาลรธน.วินิจฉัยช่วงไหน เพราะก่อนหน้านี้ บางฝ่ายก็บอกว่า หากส่งไปให้ศาลก่อน 23 ส.ค. ศาลอาจไม่รับคำร้อง เพราะถือว่าปัญหายังไม่เกิด แต่บางฝ่ายเช่น “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาล ก็บอกว่านับจากนี้ส่งไปตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 23 ส.ค. เพราะถือว่าเป็นการตีความเรื่อง “คุณสมบัติ” ของรัฐมนตรี ที่เมื่อเกิดปัญหาข้อสงสัยขึ้น ศาลก็น่าจะรับพิจารณา โดยเฉพาะหากยื่นผ่านช่องทางอย่าง กกต. ถ้ากกต.ส่งคำร้องไป ศาลรธน.รับคำร้องแน่นอน

พบว่า ตอนนี้นอกจาก “ศรีสุวรรณ” แล้ว “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ก็เริ่มเตรียมขยับจะเข้าชื่อยื่นคำร้องไปที่ศาลรธน.เช่นกัน โดยฝ่ายค้านวางกรอบเวลาไว้ว่าน่าจะยื่นในช่วง 15-17 ส.ค.นี้ เพราะคำนวณว่า เมื่อส่งไปแล้วกว่าคำร้องจะไปถึงศาลรธน. ก็น่าจะใกล้ๆ ช่วง 23 ส.ค.นี้พอดี ก็เป็นเหตุให้ ศาลรธน.ต้องรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพราะถือว่ากำลังจะเกิดปัญหาแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องหลุดจากนายกฯ หลัง 23 ส.ค.นี้หรือไม่

หลังจากนี้ ติดตามกันว่า ฝ่ายค้านจะยื่่นคำร้องส่งผ่านประธานสภาฯเพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรธน.เมื่อใด รวมถึงต้องดูว่า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินและกกต. หลังได้รับเรื่องคำร้องจาก ศรีสุวรรณ แล้ว ทั้งสององค์กร จะส่งคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยเรื่องปม 8 ปีนายกฯหรือไม่ และหากยื่น จะยื่นในช่วงใด จะยื่นก่อนหรือหลัง 23 ส.ค.

รวมถึงต้องติดตามด้วยว่า หากทั้ง “ฝ่ายค้าน-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กกต.” ส่งคำร้องไปที่ศาลรธน.แล้ว ศาลจะรับคำร้องหรือไม่ และเมื่อรับคำร้องแล้ว จุดสำคัญคือ ต้องดูว่า…

ศาลจะมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ “หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯหรือไม่”

ซึ่งหากสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องหลบไปนั่งข้างสนามชั่วคราว เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลที่จะออกมา และทำให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ จะขึ้นมาเป็น “นายกฯรักษาการ” ทันที

แต่หากเป็นแบบนี้ ศาลรธน.ก็คงต้องเร่งตีความให้จบโดยเร็ว เช่น ต้องวินิจฉัยให้จบภายในไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ เพราะคงไม่ดีแน่ หากประเทศจะมี “นายกฯรักษาการ” แบบยาวๆ โดยที่ “นายกฯตัวจริง” ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้

แต่หากศาลไม่สั่งให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำหน้าที่นายกฯต่อไปเรื่อยๆ

นับตั้งแต่นี้ ประเด็น “ปม 8 ปี บิ๊กตู่” จะมีการถูกพูดถึงออกมาจากฝ่ายต่างๆ ในแง่ข้อกฎหมายและประเด็นการเมือง จนกว่าสุดท้าย ศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยสะเด็ดน้ำออกมา โดยแต่ละคนที่ออกมาให้ความเห็น ก็จะเป็นไปตามลักษณะกลุ่มการเมืองของตัวเอง เช่น ฝ่ายที่ไม่เอาฝ่ายค้าน หนุนบิ๊กตู่ ก็ต้องออกมาให้ความเห็นในเชิงว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังได้ไปต่อ ยังไม่ต้องหลุดจากนายกฯหลัง 23 ส.ค.

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนเช่นกัน ที่มีแนวคิดการเมือง ที่ไม่ชอบฝ่ายค้าน-ต้านม็อบสามนิ้ว แต่ก็ให้ความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯหลัง 23 ส.ค.ไม่ได้

ที่น่าสนใจก็เช่น ความเห็นของ “ดร.ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คดีแกนนำม็อบสามนิ้วเคลื่อนไหวล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลรธน.ก็วินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำม็อบสามนิ้ว เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ตามที่ “ณฐพร” ยื่นคำร้อง

โดยเรื่องปม 8 ปีฯดังกล่าว “ดร.ณฐพร” ชี้ว่า การกําหนดระยะเวลาแปดปี ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอํานาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ทราบดีและรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เกิดขึ้นจากรัฐบาลนี้การที่รัฐธรรมนูญ กําหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งเกินแปดปีมิได้นั้น เป็นเรื่องของการควบคุมอํานาจของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตีความจึงตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง คือถ้าเป็นสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่บัญญัติห้ามไว้ หมายความว่า “ทําได้” แต่ถ้าเป็นเรื่องอํานาจของเจ้าหน้าที่รัฐ จะตรงข้าม คือถ้าไม่เขียนว่าทําได้ แปลว่า “ทําไม่ได้” ฉะนั้นระยะเวลาแปดปี จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 ซึ่งครบแปดปี 24 ส.ค.2565

“เรื่องดังกล่าวอยู่ที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสําคัญ และมโนสํานึก สปิริตทางการเมืองว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (ที่ตนเองและคณะสร้างขึ้นมา) หรือจะใช้ช่องทางของนักกฎหมายศรีธนชัย”

อันเป็นท่าทีและความเห็นจาก “ณฐพร” ที่ถูกมองว่าน่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ยังมีความเห็นที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อหลัง 23 ส.ค.ไม่ได้

อย่างไรก็ดี ข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยหนักใจเรื่องนี้เท่าใดนัก หลังมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เช็ความเห็นจากนักกฎหมาย โดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชนบางคนแล้ว ที่บอกว่า มีโอกาสสูงที่ศาลรธน.น่าจะตัดสินออกมาในทางว่า ยังได้เป็นนายกฯต่อหลัง 23 ส.ค. โดยคำตัดสินที่จะออกมา ถ้าจะแย่สุดสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ “ศาลรธน. อาจวินิจฉัยว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ให้นับจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อเม.ย.2560”

ดังนั้นเมื่อนับถึงตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมาแล้ว5 ปี จึงเท่ากับว่า ยังเป็นได้อีก 3 ปี ที่ก็คือ หากหลังเลือกตั้งรอบหน้าปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบ ก็จะเป็นนายกฯได้ถึงเม.ย.2568 นั่นเอง หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกลางทางเสียก่อน เช่น ลาออก-ยุบสภาฯ

โดยหาก ศาลรธน.วินิจฉัยออกมาแบบนี้ ประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะพอใจ เพราะหากนับจากตอนเป็นนายกฯรอบแรกปี 2557 แล้วถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังได้กลับมาเป็นนายกฯรอบสามอีก หลังเลือกตั้งปี 2566 โดยสามารถเป็นนายกฯจนอยู่ไปถึงเม.ย.2568

ก็เท่ากับ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่เป็นนายกฯ มาถึง 11 ปี ติดต่อกัน แบบนี้ “บิ๊กตู่” จะไม่พอใจได้ยังไง!!!!

………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img