วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSดีลจับมือ....รวมพรรค “สุวัจน์-กรณ์” ต้นแบบ“ดิ้นสู้ฟัด”พรรคเล็ก-ตั้งใหม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ดีลจับมือ….รวมพรรค “สุวัจน์-กรณ์” ต้นแบบ“ดิ้นสู้ฟัด”พรรคเล็ก-ตั้งใหม่

การจับมือกันทางการเมืองแบบ “สายฟ้าแล่บ” แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวออกมาเป็นกระเซ็นกระสายว่า “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า เริ่มรู้แล้วว่า การทำพรรคการเมืองเอง เลือดตาแทบกระเด็น อย่างที่เคยมีคนเตือนไว้ตอนที่ออกจากประชาธิปัตย์มาตั้งพรรคกล้า

แต่ “กรณ์” คงนึกไม่ถึงว่า มันจะสาหัสขนาดนี้ เลยทำให้มีข่าวว่า “กรณ์” มีการเดินสายพูดคุยกับแกนนำบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ เพื่อพูดคุยถึงเรื่อง “ความเป็นไปได้ในการจับมือกันทางการเมือง” เช่นการรวมกันเป็นพรรคเดียว สู้ศึกเลือกตั้ง หลังกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป จากบัตรใบเดียว เป็นบัตรสองใบ และแนวโน้มสูตรหารปาร์ตี้ลิสต์ในกฎหมายเลือกตั้งส.ส. ก็น่าจะออกมาเป็น 100 หาร เพื่อให้พรรคตั้งใหม่ด้วยกันเองโดยเฉพาะพรรคที่ก็เห็นกันอยู่ว่า เป็นพรรคขนาดไม่ใหญ่ สามารถอยู่รอดได้ในทางการเมือง

กระแสข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นระยะแล้ว แต่หลายคนก็ไม่คาดคิดว่า สุดท้ายคนที่เอาด้วยและจับมือทางการเมืองกับ “กรณ์” คือ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ที่แม้จะเป็นประธานพรรคชาติพัฒนา แต่ก็รู้กันดีว่า “สุวัจน์” นี่แหละคือ “หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาตัวจริง”

ดังนั้น เมื่อ “กรณ์” กับ “สุวัจน์” จับมือกันในทางการเมือง มันก็เป็นภาพทางการเมืองที่น่าสนใจไม่น้อย

เพราะแม้ “ชาติพัฒนา” จะเป็นพรรคขนาดเล็กในเวลานี้ แต่ “สุวัจน์” ยังไง ก็คือนักการเมืองรุ่นใหญ่ทางการเมือง ผ่านประสบการณ์การเมืองการเลือกตั้งมาโชกโชน อยู่ในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่ยุคพรรคปวงชนชาวไทยกับ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ก่อนที่จะไปร่วมก่อตั้งพรรคชาติพัฒนากับ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” จากนั้นก็ไปอยู่กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ไทยรักไทยช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาฟื้นพรรคชาติพัฒนาอีกครั้ง ตอนช่วงเลือกตั้งปี 2554 จนมาเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ส.ส.แค่ 3 คน ก่อนที่จะมีอดีตส.ส.อนาคตใหม่ ที่เข้ามาอยู่กับพรรคตอนยุบอนาคตใหม่อีกคน เลยมีส.ส. 4 คน 

ขณะที่ “กรณ์” ก็มีดีกรี “อดีตรมว.คลัง-อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ที่ก็มีชื่อเสียงระดับหนึ่งในแวดวงการเงินการคลัง-ตลาดทุน ก่อนที่หลังประสบความพ่ายแพ้ในการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีหลังการจัดตั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ “กรณ์” ตัดสินใจลาออกมาตั้ง “พรรคกล้า” เพราะรู้ดีว่า อยู่ประชาธิปัตย์ต่อไป ก็ไม่โต เพราะเป็นคนละขั้วกับสายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ แต่เมื่อออกมาทำพรรคกล้าแล้ว แม้จะเป็นพรรคการเมือง ที่ยังไม่มีส.ส.ในสภาฯ แม้จะส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมหลายครั้ง เช่นที่สงขลา ชุมพร เลือกตั้งซ่อมหลักสี่ รวมถึงส่งคนลงเลือกตั้งส.ก. ไป 12 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

ทั้งหมด ทำให้ “กรณ์” และแกนนำพรรคกล้า คงรู้แล้วว่า แม้พรรคจะเริ่มมีแฟนคลับ เข้ามาเรื่อยๆ แต่ด้วยกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ตอนออกมาตั้งพรรคกล้า ตอนนั้นยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง เพราะหากใช้กติกาแบบเดิม คือบัตรใบเดียวและมีส.ส.พึงมี ยังไงพรรคการเมืองแบบพรรคกล้า ก็ได้ลุ้นมีเก้าอี้ส.ส.ในสภาฯ อย่างส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อย่างน้อยก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 คน แต่เมื่อกติกาเปลี่ยน ผนวกกับภายในพรรคกล้าเอง ข่าวว่า ช่วงหลังก็เริ่มมีข่าวบางอย่างปรากฏออกมา เช่น การที่คนซึ่งอยู่ร่วมก่อตั้งพรรคมาตั้งแต่แรก เริ่มทยอยลาออกจากพรรคไปอยู่กับพรรคอื่น เช่น สร้างอนาคตไทย ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หรือนายทุน-กลุ่มทุน ที่เคยเปิดตัวสนับสนุนพรรคกล้าตอนแรกๆ พบว่า ก็เริ่มชิ่งออกไป ตรงนี้มองว่า เพราะผู้ที่เดิมจะมาช่วยสนับสนุนพรรค คงมองแล้วว่า ไปสนับสนุนพรรคอื่น น่าจะพอมีอนาคต ดีกว่ามาสนับสนุนพรรคกล้า

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็เห็นฉากในอนาคตได้ไม่ยากว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น “กรณ์” และแกนนำพรรค ต้องควักเงิน ลงมาทำพรรคกันจำนวนไม่น้อย โดยที่ก็ไม่มีหลักประกันความสำเร็จหลังเลือกตั้งอะไร ให้อุ่นใจ

จุดนี้มันก็น่าจะทำให้ “กรณ์” ต้องคิดหนักเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา ก็เป็นที่รู้กันดีว่า สมัย “กรณ์” อยู่ประชาธิปัตย์ ก็เป็นสายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำงานด้านนโยบายพรรค ด้านเศรษฐกิจ ไม่ต้องมาวิ่งวุ่นกับเรื่องการหาทุนเข้าพรรค ให้ปวดหัว แต่เมื่อมาเป็นหัวหน้าพรรคกล้า ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องทุน เรื่องค่าใช้จ่ายๆ ที่ถึงตอนเลือกตั้งเมื่อใด หนักแน่ มันจึงเป็นสิ่งที่ “กรณ์” คงไม่อยากเสี่ยง

ขณะเดียวกัน จุดขายของพรรคกล้า อย่างเรื่องคนรุ่นใหม่ พวกสตาร์ทอัพ พวกที่เติบโตในสายธุรกิจเงินสกุลดิจิตอล ที่พรรคพยายามเปิดตัว ว่าคือว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคกล้าก่อนหน้านี้ แต่มาถึงตอนนี้ กลุ่มเหล่านี้ก็เริ่มไม่ใช่จุดขาย ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในเวลานี้ และทุกพรรคการเมือง ก็มีสิ่งนี้เช่นกัน

ผนวกกับ ช่วงหลังที่ “กรณ์” ไม่ได้มีบทบาทการเมืองทั้งในสภาฯและฝ่ายบริหาร ก็ยิ่งทำให้ “ภาพจำ” ของประชาชนต่อ “กรณ์” ก็เริ่มเลือนหายไป พูดง่ายๆ คนเริ่มลืมชื่อ “กรณ์”  

ทั้งหมด ล้วนคือสาเหตุ ที่น่าจะทำให้ “กรณ์” ก็เริ่มคิดแล้วว่า หากจะรันพรรคกล้า ต่อไปแบบนี้ ท่ามกลางความไม่พร้อม ทั้งเรื่องคน-ทุน-กระแสพรรคในต่างจังหวัด ก็ทำให้น่าจะต่อสู้ได้ยากลำบากในสนามเลือกตั้ง

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ-การประชุมพรรคชาติพัฒนา 23 เม.ย.65

ขณะที่เหลียวมองไปที่ “พรรคชาติพัฒนา” ของ “สุวัจน์” ที่ว่ากันตามจริง ก็ยังมีภาพของความเป็น “พรรคภูธร” ค่อนข้างมาก หรือจะเรียกว่า “พรรคโคราช” ก็ยังได้ ที่แตกต่างจาก “พรรคกล้า” ที่มีภาพของความเป็นพรรคเชิงเศรษฐกิจ พรรคชนชั้นกลาง พรรคของคนเมือง

ดูได้จาก หลังเลือกตั้งปี 2562 ชาติพัฒนา ก็ได้ส.ส.เขตมาคนเดียวที่นครราชสีมา และเวลาคนนึกถึงชาติพัฒนา ก็จะนึกถึงแต่โคราช แต่ในระดับจังหวัดต่างๆ ทาง “สุวัจน์” และชาติพัฒนา ก็ยังเจาะไม่เข้า มิหนำซ้ำช่วงหลังที่โคราชเอง สุวัจน์กับชาติพัฒนา ก็อ่อนแรงไปเยอะ สู้กับ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ” ได้ยากลำบาก จนเลือกตั้งปี 2562 ได้ส.ส.เขตโคราชแค่คนเดียว และคนที่แพ้ที่โคราชที่ลงในนาม “ชาติพัฒนา” ก็แพ้แบบคะแนนโดนทิ้งห่างเยอะ แบบไม่มีลุ้น ทั้งที่โคราชคือฐานเสียงสำคัญของสุวัจน์และชาติพัฒนา 

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่าคนที่อยู่กับชาติพัฒนาเวลานี้อย่าง “ดล เหตระกูล” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ถูกพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามจีบให้ย้ายพรรคอยู่ รวมไปถึง “พรรคไทยสร้างไทย” ของ “เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ก็ตามจีบอยู่เช่นกัน แม้แต่กับ “วัชรพล โตมรศักดิ์” ส.ส.โคราช หนึ่งเดียวของชาติพัฒนา ก็ยังมีข่าวว่า มีบางพรรคมาติดต่อขอให้ย้ายพรรคเช่นกัน

เรียกได้ว่า สภาพของชาติพัฒนาเอง คนที่อยู่ก็มองว่าฐานเสียงพรรคค่อนข้างมีจำกัดแค่โคราชและบางจังหวัดไม่กี่แห่ง ทำให้พรรคไม่น่าจะเติบโตไปได้มากกว่านี้ อีกทั้งสามปีกว่าที่ผ่านมาหลังเลือกตั้ง “ชาติพัฒนา” แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ทางการเมือง เช่น คนดังๆ เข้ามาอยู่กับพรรค

จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งพรรคกล้า และพรรคชาติพัฒนาดังกล่าว ที่ก็คือ “พรรคเล็ก” ด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ “สุวัจน์” กับ “กรณ์” ก็เลยต่างฝ่ายต่างเข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน ว่าหากจะทำการเมืองกันต่อไปแบบ ลุยเข้าสนามเลือกตั้งโดดๆ เผลอๆ อาจไม่ใช่แค่พรรคต่ำสิบ แต่อาจจะเป็นพรรคต่ำห้า เลยด้วยซ้ำ!

ดังนั้น การมาจับมือกัน ร่วมมือกันทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่ทั้ง “สุวัจน์” และ “กรณ์” น่าจะเห็นพ้องว่า คือวิธีการที่ดีที่สุด ในการลงไปวิ่งสู้ฟัด กับพรรคการเมืองอื่น ยามเมื่อการเลือกตั้ง เริ่มเปิดฉาก 

โดยมีข่าวว่า ในการประชุมใหญ่พรรคชาติพัฒนา วันที่ 6 ก.ย.นี้ ที่จะเป็นการประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อพิจารณาเลือกกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งปัจจุบันว่างลง 7 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ 4 ตำแหน่ง เช่นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง

มีกระแสข่าวว่า มีข้อหารือเบื้องต้นระหว่างฝ่ายสุวัจน์กับกรณ์ ก็คือ จะให้ “กรณ์” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา โดยจะมีแกนนำพรรคกล้า ที่จะตาม “กรณ์” มาอยู่ที่ “ชาติพัฒนา” ด้วยจำนวนหนึ่ง ส่วนการยุบรวมพรรค ตอนนี้ยังติดขัดเรื่องข้อกฏหมายต้องรอค่อยๆ ปลดล็อกทีละสเต็ป สำหรับ ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ดูแล้ว หากไม่ใช่ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ชาติพัฒนา น้องชายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็อาจเป็น “น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” ส่วนชื่อพรรค ข่าวว่า อาจจะเปลี่ยนใหม่ ซึ่งตอนนี้มีชื่ออยู่ในลิสต์แล้ว 2-3 ชื่อ โดยชื่อที่เข้าตามากที่สุดคือ “พรรคกล้าพัฒนาชาติ” หรือ “พรรคกล้าพัฒนา” และมีข้อตกลงกันเบื้องต้นว่า จะชู “กรณ์” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับการจับมือกันทางการเมืองของ “สุวัจน์-กรณ์” ที่คนหนึ่งเชี่ยวกรากทางการเมือง อีกคนก็เป็นมือเศรษฐกิจ เรียกได้ว่า ต่างฝ่ายต่างมาเติมเต็ม ในส่วนที่ก่อนหน้านี้ พรรคชาติพัฒนากับพรรคกล้า…ขาดไป แต่สุดท้าย การจับมือกันครั้งนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน คงต้องดูกันยาวๆ

แต่ขอบอกได้เลยว่า “การปรับตัว-ดิ้นสู้ฟัด” ของ “พรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่” เพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนทางการเมืองหลังเลือกตั้งรอบหน้า คงไม่จบแค่การจับมือกันของ “กรณ์-สุวัจน์” เป็นแน่

หลังจากนี้ น่าจะมีความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ ในส่วนของพรรคอื่นๆ ตามมาอีก เพราะเมื่อเกิดกรณี “สุวัจน์-กรณ์” สองแกนนำพรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ จับมือกันแบบนี้ คาดได้ว่า คงทำให้ “แกนนำพรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่” คงเริ่มคิดได้แล้วว่า ขนาดนักการเมืองมีชื่อเสียงคนรู้จักจำนวนมากอย่าง “กรณ์-สุวัจน์” ยังต้องจับมือกันเพื่อให้ได้ไปต่อ-ไปรอดทางการเมือง

ดังนั้น พรรคของตัวเอง หากไม่ปรับตัว ไม่ขยับทำอะไรสักอย่าง แล้วไปลงสนามเลือกตั้ง โดยไม่มีความพร้อมทั้งเรื่อง “ตัวบุคคล-ทุน-นโยบายพรรค-กระแส” ผลที่ออกมา คือ “ได้ลง” แต่พรรค “อาจสูญพันธุ์” ก็เป็นได้!

……………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img