วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“งบกลาง”เสี่ยง“ฉ้อราษฎรบังหลวง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“งบกลาง”เสี่ยง“ฉ้อราษฎรบังหลวง”

พลิกเปิดปฏิทินสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าสู่ช่วงเปิดสมัยประชุม พบว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เข้าพิจารณาวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.64

หากไม่เกิดสถานการณ์การเมืองถึงขั้นฟ้าถล่มดินทลาย อาทิ พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกันเอง ไปจับมือกับฝ่ายค้านโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ตั้งแต่วาระแรกขั้นรับหลักการ 

แต่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะการผ่านงบประมาณแผ่นดินแต่ละปี นอกจากเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงประเทศ โดยเฉพาะวางรากฐานพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ  

แถมสร้างความอู่ฟู่ให้กับ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” มาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดการ “แบ่งเค้กทางเศรษฐกิจ” ได้ลงตัว 

เกือบทุกโครงการที่ลงสู่จังหวัด ผ่านขั้นตอนนี้แล้ว รับรองมีขวัญถุงก้อนใหญ่หล่นใส่มือชัวร์ 

“มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในรัฐบาลรับปากจะให้โครงการ ผมก็เอาโครงการนั้นไปให้เอกชนทำ รับเงินมาแล้ว แต่สุดท้ายเอกชนก็ไม่ได้งาน” เป็นข้อมูลจากส.ส.ท่านหนึ่ง ต้องการสะท้อนให้เห็นตัวอย่างว่า มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลสัญญาจะให้โครงการที่ต่างจังหวัด แต่ถูกหักหลังไม่ได้โครงการตามสัญญา เข้าข่าย “ฉ้อราชบังหลวงล่วงหน้า” ที่ถูกกฎหมาย ใครไม่ทำย่อมเป็น “แกะดำ”

“ราษฎรเต็มขั้น” กำลังชี้ให้เห็นถึงขั้นตอน “การแบ่งเค้กทางเศรษฐกิจ” ผ่านกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ ในการพิจารณางบประมาณปี 65 ขอตั้งข้อสังเกตว่าคงมีต่อไป ยากที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะเป็น “อ่างทองคำ” ของผู้มีอำนาจหลายคน  

ท่ามกลางการตั้งงบประมาณขาดดุลอีกปี คือ ต้องกู้เงินอีก 7 แสนล้าน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2565 

และยังต้องกู้เงินอีก 7 แสนล้านตามพ.ร.ก.ฉบับพิเศษ เบ็ดเสร็จต้องกู้เงิน 1.4 ล้านล้านบาท  

นับว่า “การกู้” เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทั่วโลกใช้กัน ผ่านนโยบายการคลัง รวมถึงประเทศไทย เพราะสภาพเศรษฐกิจยัง “ตกเตี้ยเรี่ยดิน” ฟื้นตัวแบบต้วมเตี้ยม  

ปัญหาคือรัฐบาลจะขับเคลื่อนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร เพราะหน่วยงานของรัฐ และกระทรวงต่างๆ ที่สะท้อนมุมมองผ่านการรับความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565  

ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ “การปรับลดค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการภารกิจหลักในภาพรวม”  

อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติระบุว่า “ได้รับจัดงบปีไม่เพียงพอต่อการดำเนินการตามภารกิจและเป้าหมายของหน่วยงานที่กำหนดไว้” 

สำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ระบุว่า “จะทำให้ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศในภาพรวมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” 

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า “เหตุใดจึงถูกปรับลดงบประมาณในส่วนของงบดำเนินการ ค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ” 

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยเฉพาะสกมช.ระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับร่างงบประมาณปี2565 เพราะเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ ควรได้รับงบประมาณในการเสริมสร้างหน่วยงานในทุกด้านให้มีความพร้อม ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย” 

เมื่อหันไปดูวงเงินงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ 10 อันดับแรก พบว่า 

1.งบกลาง กว่า 571,047 ล้านบาท ร้อยละ 18.4 ของงบประมาณปี 2565 

2.กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 332,398 ล้านบาท ร้อยละ 10.7 

3.กระทรวงมหาดไทย กว่า 316,527 ล้านบาท ร้อยละ 10.2 

4.กระทรวงการคลัง กว่า 273,941 ล้านบาท ร้อยละ 8.8 

5.กระทรวงกลาโหม กว่า 203,282 ล้านบาท ร้อยละ 6.6 

6.กระทรวงคมนาคม กว่า 135,858 ล้านบาท ร้อยละ 5.7 

7.กระทรวงสาธารณสุข กว่า 153,940 ล้านบาท ร้อยละ 5 

8.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กว่า 124,182 ล้านบาท ร้อยละ 4 

9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่า 110,126 ล้านบาท ร้อยละ 3.6 

10.กระทรวงแรงงงาน กว่า 49,742 ล้านบาท ร้อยละ 1.6 

ปัญหาคือ ทำไม ฝ่ายค้าน ตั้งเป้าโหมโรงถล่มการจัดงบประมาณ เฉพาะกระทรวงกลาโหมและกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ตั้งเป้าตีจุดอ่อนของ “งบกลาง” ที่ให้อำนาจนายกฯจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกโยธิน แต่ตรวจสอบได้ยาก เปิดช่องให้ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” และกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ 

“ราษฎรเต็มขั้น” ขอเสนอให้ฝ่ายค้านช่วยชำแหละ โดยเน้นเอกซเรย์ความโปร่งใสการตั้ง “งบกลาง” จำนวนมหาศาลด้วย และขอตัดงบกลางในส่วนที่เกี่ยวกับข้องกับสาธารณสุขในชั้นคณะกรรมาธิการวิสาสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ และขอให้ “รัฐบาลลุงตู่” แปรญัตติเพิ่มงบประมาณกลับมาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข  

เพื่อยืนยันในเรื่องความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ตามกระบวนการตามปกติ 

……………………………………………
คอลัมน์ : ไขกุญแจ-ไขแหลก
โดย “ราษฎรเต็มขั้น”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img