วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEปมฉาว“สีกากี” มาตรฐานด่านตรวจที่ถูกละเลย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปมฉาว“สีกากี” มาตรฐานด่านตรวจที่ถูกละเลย

กลายเป็นประเด็นฉาวโฉ่ ทำลายการท่องเที่ยวไทย และภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจอีกครั้ง เมื่อตำรวจประจำด่านตรวจหน้าสถานทูตจีน ถูกดาราสาวชาวไต้หวันแฉว่า เธอถูกรีดไถเงินถึง 27,000 บาท เพราะไม่ได้พกพาพาสปอร์ตไปเที่ยว และเธอมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครอง

เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังระดับประเทศ เพราะดาราสาวเอง ออกมาท้าให้ตำรวจเปิดกล้องวงจรปิด โดยรอบสถานทูตจีนออกมา เธอมั่นใจว่า จะมีกล้องที่สามารถบันทึกภาพบริเวณด่านตรวจ ขณะตำรวจ 6-7 นาย ตรวจค้นเธอกับเพื่อน จากนั้นได้มีการเรียกรับผลประโยชน์!!!

เรื่องนี้ ตำรวจนครบาลพยายามหาหลักฐานโต้แย้ง ทั้งพยานบุคคล คือ คนขับแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่น รถมาสด้าสีแดง ที่รับกลุ่มดาราสาวไต้หวันเข้าด่านตรวจ พยานโชเฟอร์รายนี้ ยืนยันว่า ดาราสาวเมาอย่างแน่นอน แต่ก็ยังไม่ตรงประเด็นกับที่เธอกล่าวหา เรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกรับสินบน

จากนั้น มีการตรวจสอบภาพวงจรปิดโดยรอบสถานทูต และ ตำรวจนำมาชี้แจงว่า ไม่มีการพากลุ่มนักท่องเที่ยวไต้หวัน เข้าไปในซอยข้างๆ เพื่อเรียกเงินสินบน รวมทั้งไม่ได้ตรวจค้นนานเกือบ 2 ชั่วโมง ตามที่เธอกล่าวอ้าง หลังจากนั้น มีภาพที่เธอสูบบุหรี่ไฟฟ้าออกมา เพื่อหักล้างคำพูดว่า เธอถูกตำรวจยัดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเรียกไถเงิน

ซึ่งในจุดนี้ อาจเกิดความคลาดเคลื่อนหรือตั้งใจในการแปลข้อความที่ดาราสาวจะสื่อออกมาก็ได้ แต่ประเด็นหลัก ยังคงเป็นเรื่องราว เรียกรับสินบนของด่านตรวจ ว่า เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง…อย่างไร

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

จนกระทั่งวันที่ 30 ม.ค. มีความชัดเจนเกิดขึ้น หลังจาก “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” จอมแฉออกมายืนยันว่า ตำรวจประจำด่านตรวจรับสารภาพแล้วว่า รีดไถเงินดาราสาวจริง โดยมีพยานปากเอก เป็นหญิงสาวชาวไทย ในกลุ่มที่ไปกินดื่มด้วยกันกับดาราสาวที่ผับดัง ก่อนที่ดาราสาวจะถูกด่านตรวจค้นรีดเงิน

พยานคนนี้บอกว่า เธอเป็นคนนำเงินไปมอบให้กับตำรวจนอกเครื่องแบบประจำด่านคนหนึ่งเอง และยังมีคลิปยืนยันเอาไว้ด้วย จนในที่สุด ทาง “ผบช.น.” พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ได้เปิดแถลงข่าวว่า มีการเอาผิดข้อหา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ กับตำรวจประจำด่านทั้งหมด

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องเรียกรับสินบน จำเป็นต้องมีพยานและผู้กล่าวหา ขณะนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์สืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล เร่งประสานงานกับฝ่ายไต้หวัน ในการขอสอบพยาน คือ ดาราสาว และ ผู้เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีการทำผิดจริง จะแจ้งข้อกล่าวหาส่วนนี้เพิ่มเติมอีกครั้ง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

ขณะที่ “พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์” ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ย้าย “พ.ต.อ.ยิ่งยศ สุวรรณโณ” ผู้กำกับการ สน.ห้วยขวาง ย้ายมาช่วยราชการ ฐานปล่อยปละละเลยให้ลูกน้อง มีการกระทำผิด จนเกิดความเสียหายขึ้นมา

ย้อนไปช่วงปี 2564 “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” อดีต ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้ชะลอการตั้งด่านตรวจทั่วประเทศเอาไว้ และจัดให้มีการฝึกอบรมตำรวจสายป้องกันปราบปราม เกี่ยวกับการตั้้งด่านให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ จากนั้นออกคำสั่งไปเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2564 ให้มีการตั้งด่านได้ แต่ต้องมีความพร้อมตามมาตรฐานที่ตร.กำหนด

โดยเน้นย้ำ ต้องมีความโปร่งใส เป็นมาตรฐาน ตรวจสอบได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี โดยทุกด่านจะต้องมีกล้องซีซีทีวีประจำด่านตรวจ และกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ (บอดี้ คาเมร่า) จากเดิมเคยมีปัญหาร้องเรียนต่างๆ ก็จัดให้มีกล้องบันทึกภาพแบบเรียลไทม์ไว้ประจำจุดที่มีการยืนยันผลด้วย

ส่วนการจะตั้งจุดตรวจ จะมีผู้ควบคุมกำกับดูแลคือ ผู้บังคับการในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้จะมีป้ายแสดงข้อความหากต้องการร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1599 และเบอร์โทรศัพท์ผู้บังคับการในพื้นที่นั้นๆ

ขณะเดียวกัน มีการทำฐานข้อมูล TPCC (Traffic Police Checkpoint Control) เพื่อกำหนดจุดตั้งด่าน ลงรายชื่อผู้ปฏิบัติในด่านต่างๆ ลงในแผนที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้ว่า มีการตั้งจุดตรวจอยู่ในจุดใดบ้าง มีการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับการหรือไม่

ด่านทุกด่านจะต้องได้รับการอนุมัติจาก “ผู้บังคับการ” ซึ่งจะต้องมีเหตุผลในการตั้งด่าน อาทิ บริเวณจุดตั้งด่านมีอาชญากรรมสูง ด่านความมั่นคง หรือเป็นทางผ่านขนยาเสพติด เป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อย หรือมีสถานบริการอยู่จำนวนมากที่ต้องตั้งเพื่อป้องปราบผู้ที่เมาแล้วขับ ฯลฯ ยกเว้นกรณีเดียวที่ไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับการในกรณีฉุกเฉิน คือ การสกัดจับคนร้าย

เจ้าหน้าที่เชื่อว่า มาตรการที่ออกมาจะป้องกันการทุจริตได้พอสมควร เนื่องจากก่อนตั้งด่านต้องขออนุญาตผู้บังคับการ และผู้กำกับการ เจ้าของพื้นที่ หากเกิดการทุจริตผู้บังคับบัญชาที่อนุญาตให้ตั้งจุดตรวจต้องรับผิดชอบ ในส่วนที่กำกับดูแลไม่ดีพอ

เรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่ามาตรการที่วางไว้จะดีเพียงใด หากผู้ปฏิบัติงาน ไม่มีใจที่เที่ยงธรรม ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนหรือประเทศเป็นที่ตั้งแล้ว มาตรการเหล่านั้น ย่อมไม่สามารถป้องกัน การกระทำผิดของผู้ปฏิบัติงานนอกคอก ที่เปรียบเป็นเนื้อร้ายขององค์กรได้ แม้ตำรวจที่กระทำผิด จะนับเป็นส่วนน้อยก็ตาม

สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ทำอย่างไรที่ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จะเรียกความเชื่อมั่นศรัทธา จากประชาชนกลับคืนมาได้โดยเร็วที่สุด

เพราะการตัด “นิ้วร้าย” จนมือแทบด้วน คงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ได้เท่ากับการกระทำนั่นเอง

…………………………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img