วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEถอดรหัส“เกมเตะตัดขา” สกัด“ก้าวไกล” สู่ทำเนียบรัฐบาล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ถอดรหัส“เกมเตะตัดขา” สกัด“ก้าวไกล” สู่ทำเนียบรัฐบาล

หากดูในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็เคยมีกรณีพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขกลไกต่างๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และอีกส่วนหนึ่งคือ คำมั่นที่พรรคการเมืองให้ไว้ ในการหาเสียงด้วย จึงเป็นเงื่อนไข ที่ไม่ร่วมกันสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั่นเอง

ย้อนไป การเลือกตั้งวันที่ 26 ม.ค.2518 มีพรรคการเมืองที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าสภาถึง 22 พรรค โดยอันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียง 72 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 ที่นั่ง, พรรคชาติไทย 28 ที่นั่ง, พรรคเกษตรสังคม 19 ที่นั่ง, พรรคกิจสังคม 18 ที่นั่ง และอื่นๆ เป็นพรรคเล็กต่ำสิบ

พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคอันดับ 1 ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เอง คือคำมั่นสัญญาว่า พรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย ซึ่งเป็นพรรคของจอมพลถนอม กิตติขจร เด็ดขาด

ด้วยเงื่อนไขนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคม ซึ่งมีกว่า 45 ที่นั่ง รวมถึงพรรคสังคมชาตินิยม 16 ที่นั่ง นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ รวมเสียงได้แค่ พรรคเกษตรสังคมที่มี 19 ที่นั่ง รวมกันเป็น 91 เสียง พยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ต้องล้มเหลว เมื่อคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย เพื่อขอความไว้วางใจจากสภาก็ถูก ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจ 152 ต่อ 111 เสียง

จากนั้น จึงเป็นช่องทางของ “หม่อมน้อง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีเพียง 18 ที่นั่ง แต่รวมเสียงได้เป็นรัฐบาลได้ในที่สุด แต่เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ในที่สุด ต้องยุบสภาในอายุรัฐบาลประมาณ 1 ปี 1 เดือนเท่านั้น

“เพื่อไทย” ถูก รธน.60 สกัด วางหมากผิด-บัญชีรายชื่อสูญพันธุ์

ถัดมาเป็น การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองไทย ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้ผลเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย กลายเป็นพรรคที่ต้องตกที่นั่ง “พรรคต่ำ 200” และ “สูญพันธุ์” ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในรอบ 18 ปี จากที่เคยเป็นพรรคที่มีฐานมวลชนสนับสนุนสูงสุด 19 ล้านเสียง

หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” นำโดยเพื่อไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชิงการจัดตั้งรัฐบาล 255 เสียง เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2562 แต่สุดท้ายต้องล้มเหลว เมื่อยอดส.ส. ตามที่ กกต. ประกาศรับรองเหลือเพียง 246 เสียงเท่านั้น

เมื่อเสียงไม่ถึง 250 เสียงจึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ปล่อยให้ พรรคพลังประชารัฐ เสนอ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ และหลังจากนั้น จึงมีเรื่องร้องเรียนปมถือหุ้นสื่อ ทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคตามมา สมาชิกส่วนใหญ่ที่เหลือ จึงย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล

จากปี 2562 จนถึงวันนี้ พรรคก้าวไกล ได้เติบโตจนได้รับความไว้วางใจจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ได้คะแนนทั้งพรรคทั้งเขตอย่างท่วมท้น และอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่ยังมีด่านสำคัญที่ต้องฝ่าฟัน คือ

1.การรวบรวมเสียงในสภา ให้ได้มากกว่า 376 เสียง เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งเสียงโหวตจาก ส.ว. (ผู้นำเหล่าทัพ งดเว้นการโหวตไปแล้ว 6 เสียง) แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะเงื่อนไขนี้ หมายความว่า พรรคก้าวไกลต้องดึงพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

2.การจัดตั้งรัฐบาล 310 เสียงตามที่ได้กล่าวไว้ และใช้กระแสสังคม กดดันให้ ส.ว. 250 เสียง ยอมรับฉันทามติของประชาชน ด้วยการโหวตรับรอง “พิธา” เเคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่ ส.ว.หลายฝ่าย แสดงจุดยืนแล้วว่า ไม่เอาด้วยกับการแก้ไข “มาตรา 112” ตามนโยบายของพรรคก้าวไกล

ในข้อ 2 นี่ ค่อนข้างมีความเสี่ยงมากกว่าวิธีที่ 1 และ พรรคก้าวไกลอาจพลาดการจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจเปิดทางให้พรรคอันดับ 2 อย่าง “เพื่อไทย” รวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ แต่หลายฝ่าย เชื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จะเกิดความวุ่นวายตามมาอย่างไม่รู้จบ และมีโอกาสที่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล จะลงถนนประท้วงจนประเทศไทย เกิดวิกฤติอีกครั้ง

อีกหนึ่งชนักสำคัญ ที่จะสกัดพรรคก้าวไกลจนไปไม่ถึงฝัน นั่นคือกรณีที่ “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี เพราะหาก กกต.ยื่นคำร้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ มีโอกาสสูงที่พรรคก้าวไกล อาจเดินทางซ้ำรอยกับพรรคอนาคตใหม่ ที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เคยประสบชะตากรรมนี้มาแล้ว และคาดการณ์ว่า แม้ก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่สุดท้าย “คำตัดสิน” ของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะชี้วัดอนาคตประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ประเทศไทยมุ่งหวังการเมืองใหม่ อนุรักษ์นิยมสูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่ผ่านมานี้ ทำให้เกิด “สถานการณ์การเมืองใหม่” ที่เห็นได้ชัดอย่างน้อย 4 ประการอุดมการณ์ใหม่

ถือเป็นการเกิดขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอนาคตใหม่ ที่ต่อมากลายเป็นพรรคก้าวไกล ถูกยกเป็นตัวแทนอุดมการณ์ของ “ฝ่ายก้าวหน้า ประชาธิปไตยใหม่ ประชานิยมใหม่” ส่วน ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้ย้ายฐานจากประชาธิปัตย์ ไปสู่พรรคพลังประชารัฐ

ผู้นำใหม่ในฝัน

จากยุคของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่เคยได้รับคำนิยามว่า เป็น “ผู้นำประชานิยมทางการเมืองใหม่” เปลี่ยนผ่านมาสู่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่สามารถสร้างกระแสนิยม ได้เสียงสนับสนุนมากกว่า 14 ล้านเสียง ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

โซเชียลมีเดีย หัวคะแนนบริสุทธิ์

อนาคตใหม่ เป็นพรรคการเมืองแรก ๆ ที่พูดถึงการทำการเมือง 2 ขา ระหว่างภาคพื้นดินกับภาคออนไลน์ และประสบความสำเร็จในการจุด-สร้าง-นำกระแสการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ และประกาศตัวเป็นพรรคที่ไม่ใช้หัวคะแนน เป็นคะแนนบริสุทธิ์ และต่อมา เป็นกลยุทธ์สำคัญ ที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

คนรุ่นใหม่ นิวโหวตเตอร์

ถือเป็นฐานมวลชนใหม่ที่มีศักยภาพในการชี้ขาดชัยชนะในสนามเลือกตั้ง และจะอยู่กับการเมืองไทยไปอีก 30-40 ปี หากพรรคการเมืองได้ยึดครองใจคนกลุ่มนี้ได้ก็จะเป็นพรรคที่มีอนาคต เหมือนที่ปรากฎให้เห็นจากการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

…………………..

รายงานเพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img