วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE“ระบบตรวจสอบย้อนกลับ”ดันไทยก้าวสู่ “ครัวอาหารออร์แกนิคระดับโลก”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ระบบตรวจสอบย้อนกลับ”ดันไทยก้าวสู่ “ครัวอาหารออร์แกนิคระดับโลก”

โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคกฎระเบียบใหม่ทางการค้า เน้นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน ทุกประเทศจึงเร่งพัฒนา “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” เพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจและเลือกอุดหนุนสินค้า “รักษ์โลก” มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันหลายประเทศคู่ค้าของไทยกำหนดมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย คุณภาพสินค้า และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา กระทรวงพาณิชย์ โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จึงขับเคลื่อน “โครงการประยุกต์ใช้ Blockchain ยกระดับเศรษฐกิจการค้า” ซึ่งดำเนินการมาถึงระยะที่ 5 พร้อมทั้งพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับ TraceThai.com

วิชานัน นิวาตจินดา

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า สนค. ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับธุรกิจหรือสินค้า เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจต่อมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทย สร้างความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ โดยนำร่องด้วยสินค้าที่มีศักยภาพ คือ ข้าวอินทรีย์ ปัจจุบันปี 2567มีกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ 160 ราย/กลุ่ม ที่นำร่องใช้ระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับ TraceThai.com และได้ขยายไปยังสินค้าอินทรีย์อื่นๆ อาทิ ข้าว ถั่วเหลือง ชา ผัก ผลไม้อินทรีย์ ทั้งที่ได้มาตรฐานอินทรีย์สากล Organic Thailand และการรับรองอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS)

ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบตรวจสอบย้อนกลับมีความสำคัญต่อสินค้าไทย ด้วยเหตุผล 3 ประการก็คือ 1) ผู้ซื้อมีความต้องการคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสูงขึ้น 2) กฎระเบียบและมาตรการทางการค้าทั้งในระดับสากลและ แต่ละประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา​ 3) การให้ความสำคัญประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้พัฒนาระบบรองรับในเรื่องเหล่านี้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าและผู้บริโภค

ดร.อาณัติ ลีมัคเดช

ในเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีตัวแทนหลายองค์กร ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดย นางสาวเบญจมาศ สืบเนียม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นอีกหน่วยงานที่กำลังทำเรื่องนี้ ระบุว่า ปัจจุบัน มกอช. พัฒนาระบบเรียกว่า “ตามสอบ” ผ่านระบบคลาวด์ มีทั้งสินค้าผักผลไม้ ข้าว ประมง รวมถึงสินค้าแปรรูปด้วย โดยให้ผู้ผลิตกรอกข้อมูลและสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค เช่น ทุเรียน ซึ่งทำให้รู้ว่าเจ้าของเป็นใคร แหล่งผลิตที่ไหน ได้รับมาตรฐานอะไร สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

มอกช. เริ่มทำระบบนี้ในกลุ่มซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าขายให้กับห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีศักยภาพกรอกข้อมูล และสร้างคิวอาร์โค้ด ทั้งนี้ มกอช. ยังต้องสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แรงงาน และคุณภาพสัตว์ เช่น ข้าวโพดต้องไม่เผาตอซัง และจะเพิ่มประเภทสินค้า เช่น จิ้งหรีด ผึ้ง เป็นต้น

ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม “ยาง” ก็เร่งสปีดเพื่อให้เกษตรกรและผู้ผลิตปรับตัวรองรับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation : EUDR) ที่จะบังคับใช้ 30 ธันวาคม 2567 นี้  โดย นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บอกว่า กยท. ศึกษามาตรฐาน EUDR และถอดเป็นกระบวนการทำงานสำหรับระบบของ กยท. และเผยแพร่ผ่านเครือข่ายที่ครอบคลุม 45 จังหวัด และสาขา 75 อำเภอ กยท. มีพนักงานที่ทำงานใกล้ชิดเกษตรกร ช่วยดูแลถึงแปลงยาง มีระบบตลาดกลาง 8 ตลาด รองรับการซื้อขายทั่วประเทศ โดยเกษตรกรสามารถขายยางตรงให้ผู้ซื้อทั้งในประเทศและผู้ส่งออกรายใหญ่

มาตรฐาน EUDR ทำให้ระบบของ กยท. ต้องลงลึกข้อมูลรายแปลง ล่าสุด กยท. มีข้อมูลพื้นที่ 1.9 ล้านแปลง มีสถาบันเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน 1,000 แห่ง และนำแผนที่แปลงยางของเกษตรกรไปซ้อนทับกับแผนที่ป่าไม้ เพื่อยืนยันว่าไม่บุกรุกป่า ชำระภาษีถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช้สารเคมีผิดกฎหมาย ไม่ใช้แรงงานเด็ก และมีเจ้าหน้าที่ไปประเมินเกษตรกรทุกรายก่อนจะขายยางผ่านตลาดกลางได้ 

“การปฏิบัติได้ตามมาตรฐานสากลเป็นผลดีกับเกษตรกรแต่ก็ทำให้ต้นทุนสินค้าที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปสูงขึ้น จึงเสนอให้มีหน่วยงานกลางมาดูแลสินค้าส่งออกทุกชนิด กำหนดแบบประเมินความเสี่ยงของไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และออก license ส่งออก เพื่อรองรับมาตรการที่เข้ามาใหม่ๆ”

นายกิตติ พงศ์กิตติวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) อีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาช่วยพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การส่งออกทุเรียนมาตรฐาน GAP ไปจีน ระบุว่า เราออกแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานสากล GS1 อาทิ ตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้น ที่ติดตามตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ผ่านด่านประเทศจีนไปจนถึงตลาดต่างๆ เป็นระบบให้กลุ่มเกษตรกรใช้งานง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป

นายกิตติ มองว่า การบันทึกข้อมูลจำเป็นสำหรับระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ดังนั้น จึงอยากเห็นการแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ยกระดับไปถึงการออกใบรับรองดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรภายนอก สามารถเข้าถึงและนำใช้ได้ รวมถึงบริการข้อมูลกับผู้บริโภคที่ต้องการตรวจสอบด้วย

กิตติ พงศ์กิตติวัฒนา

ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรอย่าง “ซีพี” ปรับตัวและดำเนินการเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า กฎเกณฑ์เรื่องความยั่งยืนจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการรายใดพร้อมก่อน ก็เป็นโอกาสอยู่รอดในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง

ยกตัวอย่างโจทย์ความยั่งยืน คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทฯ จึงได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100% รวบรวมประวัติของเกษตรกรและคนกลาง คือ ลานรวบรวมสินค้า แปลงปลูกต้องไม่รุกป่า และทำ Hotspot รายงานอัตโนมัติว่าเกษตรกรมีการเผาในแปลงหรือไม่ ถ้าเผาติดต่อกัน 2 ครั้งระบบจะไม่ให้ขายผลผลิต 1 ปี

ส่วนระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรออร์แกนิค พบว่า ผู้บริโภคโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมักถามหาใบรับรองออร์แกนิค โดย นางกนิษฐา ตรีรัตนภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค (ไทยแลนด์) เล่าว่า เราต้องการระบบที่จะบอกทั่วโลกว่าเป็น “real organic” จึงเข้าโครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่พัฒนาแพลตฟอร์ม TraceThai.com ทำให้ทุกวันนี้บริษัทส่งออกข้าวออร์แกนิคได้ตามมาตรฐานอียู กล้าบอกอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น World Organic Food Supply และเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ได้รับกล่าวถึงในระดับสหประชาชาติ (UN)

กนิษฐา ตรีรัตนภรณ์

นางกนิษฐา ย้ำในตอนท้ายว่า นโยบายให้ไทยเป็น Organic Hub of the World ต้องมีสิ่งที่แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า สินค้าของไทยเป็น Real Organic จริง นั่นคือข้อมูลหลักฐานที่แสดงออกไป “สำคัญคือ เมื่อจะเป็นครัวของโลก ก็ต้องเป็นครัวที่ผลิตอาหารปลอดภัย” เพราะผลผลิตออร์แกนิคดีต่อสุขภาพทุกคน ภาครัฐจึงต้องทำให้ทั่วโลกวางใจในสินค้าของเรา

นี่คือทิศทางและความก้าวหน้าของระบบตรวจสอบย้อนกลับที่กระทรวงพาณิชย์พยายามยกระดับสินค้าไทยมาตลอด 5 ปี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนโอกาสการเป็นครัวอาหารออร์แกนิคโลกได้ไม่ไกลเกินเอื้อม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img