วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“ปตท.สผ.อีดี”เข้าพื้นที่“เอราวัณ”ล่าช้า ใครเสียประโยชน์???
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปตท.สผ.อีดี”เข้าพื้นที่“เอราวัณ”ล่าช้า ใครเสียประโยชน์???

บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ได้

เนื่องจากยังเจรจาหาข้อยุติไม่ได้กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 10 เดือนหากนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2565 ที่ปตท.สผ.อีดี จะต้องเข้าไปดำเนินการในแหล่งเอราวัณ

ทั้งนี้จากกำหนดเดิมนั้น ปตท.สผ. อีดี เคยตั้งเป้าหมายที่จะต้องเข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นผลิตในไตรมาส 1/2564 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการเข้าพื้นที่ หลังจากได้ดำเนินการเจรจากับเชฟรอนฯ มาโดยตลอดกว่า 2 ปีนับจากลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจากความล่าช้านั้น อาจจะส่งผลกระทบปริมาณการผลิตก๊าซฯ ขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการเข้าพื้นที่ล่าช้าของปตท.สผ.อีดีนั้น หน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้มีการสรุปตัวเลขที่ชัดเจนออกมาว่าในวันที่ ปตท.สผ.อีดี เริ่มดำเนินการตามสัญญาจะสามารถผลิตก๊าซได้วันละเท่าไหร่ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามสัญญาจะต้องมีการจ่ายค่าปรับให้รัฐอย่างไร

ในขณะเดียวกันรัฐก็จะได้ผลตอบแทนจากค่าภาคหลวง และผลประโยชน์จากรายได้ที่มาจากการแบ่งปันผลผลิตลดลงด้วย เนื่องจากการเข้าพื้นที่ล่าช้าจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมลดลง โดยก่อนหน้านั้นทางปตท.สผ. อีดี เคยประเมินว่า จากการเข้าพื้นที่ล่าช้าจะส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติจะหายไปประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเงื่อนไขสัญญา PSC ขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ ประชาชนอาจจะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นด้วย หากนำเข้าธรรมชาติเหลว หรือ LNG มาชดเชยมีราคาสูงกว่าก๊าซฯ ที่ผลิตได้จากอ่าวไทย พร้อมกันนี้หากไม่มีความต่อเนื่องในการผลิต จะกระทบต่อปริมาณสำรองก๊าซ หรือ Proved Reserves ที่จะตกค้างอยู่ก้นหลุม โดยไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่าไหร่ โดยหากมีปริมาณมากก็จะเป็นการสูญเสียโอกาสการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรก๊าซของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามตามสัญญาที่ ปตท.สผ. อีดี ผู้ชนะการประมูลนั้น เสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาก๊าซในแหล่งเอราวัณปัจจุบันราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู และในแหล่งบงกชราคา 214.26 บาทต่อล้านบีทียู เทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ 5.5 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี หรือปีละ 55,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วยอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายที่แบ่งตามสัดส่วนการใช้ก๊าซประหยัดไฟฟ้าเฉลี่ย 17 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ ผู้ชนะประมูลขอเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% มากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ในเอกสารเชิญชวน โดยแหล่งเอราวัณเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 68% ผู้รับสัญญารับกำไร 32% แหล่งบงกชเสนอให้รัฐ 70% ผู้รับสัญญารับกำไร 30% ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมอีก 1 แสนล้านบาท สร้างประโยชน์ให้ประเทศได้รวม 6.5 แสนล้านบาท อันนี้เป็นเงื่อนไขตามสัญญาของผู้ชนะการประมูลลงนามไว้กับรัฐ ซึ่งการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้าอาจจะทำให้ส่งผลกระทบไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา

สราวุธ แก้วตาทิพย์

ด้าน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประสานให้ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.ผส.อีดี) ผู้ดำเนินงานรายใหม่ ในแปลง G1/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และบริษัท เชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานรายเดิม มาหารือร่วมกันไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ทั้งในระดับผู้บริหารองค์กร และในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เป็นไปอย่างราบรื่น

โดยการหารือได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้ถือว่าดำเนินงานสำเร็จไปพอสมควร สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในหลายๆ ประเด็น เช่น การเข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่าง การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การสำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องหาข้อตกลงที่เหมาะสมร่วมกันให้ได้ โดยกุญแจสำคัญที่จะทำให้ความพยายามในการประสานการเจรจาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสบความสำเร็จนั้นก็คือ ทั้งผู้ดำเนินงานรายปัจจุบันและรายใหม่ จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจและเร่งด่วนให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้เร่งประสานการเจรจาระหว่าง 2 บริษัท โดยมุ่งยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img