วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“รฟม.”รุกขยาย“โครงข่ายรถไฟฟ้า” ผลักดันระบบ“ART”นำร่อง4จังหวัด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รฟม.”รุกขยาย“โครงข่ายรถไฟฟ้า” ผลักดันระบบ“ART”นำร่อง4จังหวัด

ปัจจุบันรฟม. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการตามแผนงานพัฒนารถไฟฟ้าอยู่ 10 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 โครงการ อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกวดราคา 2 โครงการ และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุนอีก 5 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการศึกษาแผนการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัด

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความก้าวหน้าโดยรวม 81.40% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้าโดยรวม 78.77% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) คาดว่าทั้งสองโครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ส้มตะวันออก) มีความก้าวหน้างานโยธา 84.44% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2565 จากนั้นก็จะดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจัดหาขบวนรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568

“ยื่นซองสายสีม่วงใต้ 8 ต.ค.64”

ขณะที่โครงการที่เตรียมการประกวดราคานั้น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการประกวดราคาประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งจะเป็นการต่อขยายแนวเส้นทางจากรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน (เขตบางซื่อ) ลงมาทางทิศใต้ของกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 78,720 ล้านบาท

ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาฯ แล้วทั้งสิ้น 8 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย รวมทั้งสิ้น 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2564) จากนั้นจะให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประกวดราคาปลายปี 2564 และลงนามสัญญาประมาณเดือนมกราคม 2565 พร้อมเริ่มก่อสร้างปี 2565

โดยการดำเนินการก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 5 ปีคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถปี 2570 อย่างไรก็ตามการดำเนินการประกวดราคานั้นทางรฟม.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน

“สายสีส้มตะวันตกขายซอง ต.ค.นี้”

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 96,012 ล้านบาท และจัดหารถไฟฟ้ารวมทั้งการให้บริการเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตรกรอบวงเงินลงทุน 32,116 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมด 128,128 ล้านบาท

ทั้งนี้หลังจากที่มีการฟ้องศาลปกครองกลางในกรณีปรับเกณฑ์การประกวดราคาใหม่นั้นล่าสุดศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนสั่งจำหน่ายคดี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยรฟม.จะกำหนดขายซองประกวดราคาใหม่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมาณเดือนมีนาคม หรือไม่เกินเดือนเมษายน 2565 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นจะกลายเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครในแนวฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เมื่อเปิดให้บริการได้ทั้งระบบตามแผนในปี 2571

นอกจากนี้ รฟม. ยังมีแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 48,386 ล้านบาทที่มีโครงสร้างร่วมกันกับโครงสร้างทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว (Monorail) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

“ดันระบบ ART นำร่อง 4 จังหวัด”

ส่วนแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองหลักภูมิภาค รฟม. มีความพร้อมในการผลักดันโครงการในระยะแรกในพื้นที่ 4 จังหวัด รวมจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร กรอบเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท, โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 27,211 ล้านบาท

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 8,275 ล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 3,440 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทั้ง 4 โครงการนั้นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมได้ให้นำเอาแผนกลับมาพิจารณาใหม่ ซึ่งอาจจะมีการปรับแผนจากระบบรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรม) เป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Autonomous Rail Rapid Transit) หรือ ART เป็นรถโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้  ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบครอบทุกด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

โดยแผนการพัฒนาโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองหลักภูมิภาคนั้น เพื่อเป็นการรองรับแผนพัฒนาระบบขนส่ง และระบบโลจิสติกส์อื่นๆ ของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศไทยไปจนถึงระดับภูมิภาคอาเซียน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img