วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนคืบหน้า60% สร้างถึง“หนองคาย”ปี69-เปิดใช้ปี70
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนคืบหน้า60% สร้างถึง“หนองคาย”ปี69-เปิดใช้ปี70

โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีแนวเส้นทางโครงการผ่าน 5 จังหวัด

โครงการนี้มี 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ในโครงการนี้ รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ไม่ได้ล่าช้า ยังคงเป็นไปตามแผน หากไม่นับรวมสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การดำเนินการก่อสร้างในช่วงอื่นๆ ก็มีความคืบหน้ากว่า 50-60%

ส่วนสถานีอยุธยาก็ได้ข้อยุติกับยูเนสโกแล้วเพราะอยู่นอกเขตมรดกโลกสามารถดำเนินการได้ โดยในขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารการประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนประกวดราคาได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการก่อสร้างจะต้องสอดคล้องกับผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรองรับการเป็นเมืองมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ตามข้อกำหนดของยูเนสโก

สำหรับโครงการระยะที่ 2 คือ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางราว 356 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมราว 252,347 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจเส้นทาง และการออกแบบรายละเอียดโครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จถึงจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการทั้งเส้น คือ กรุงเทพฯ-หนองคาย เชื่อมั่นว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569

ส่วนกรณีที่ประเทศจีนมีการเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนยังก่อสร้างไม่เสร็จนั้น เพื่อรองรับการขนส่งทางรฟท. ได้จัดขบวนรถไฟเพิ่มเป็น 14 ขบวน จากเดิม 4 ขบวน ซึ่งสามารถรองรับการขนส่งออกผลไม้ได้เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียน ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า ผัก ผลไม้จากจีนจะเข้ามาตีตลาดไทยนั้นก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต้องกำกับดูแล ทางกระทรวงพาณิชย์มีขั้นตอนขบวนการกำกับดูแลของเขาอยู่แล้วไม่ต้องกังวล ส่วนกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลเรื่องการขนส่ง ซึ่งก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา จากทั้งหมด 14 สัญญาในขณะนี้ได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว 11 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก็สร้าง และอยู่ระหว่างการประกวดราคา 3 สัญญา

สำหรับ โครงรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน โดยตลอดทั้งสายกรุงเทพฯ-หนองคายจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2569 พร้อมเปิดให้บริการเดินรถในปี 2570 ซึ่งรัฐบาลให้ความคาดหวังว่าจะเป็นโครงการที่ยกระดับความสามารถการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมประเทศจีน ช่วยให้เกิดการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ต่างจังหวัด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img