วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEเอกชนเฮ! ก.พลังงานเร่งประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนปีนี้ 2,703 MW
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เอกชนเฮ! ก.พลังงานเร่งประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนปีนี้ 2,703 MW

กระทรวงพลังงาน มีแผนเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบให้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่กำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050

ในการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้นกระทรวงพลังงานได้ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP 2018 Rev.1) โดยกำหนดกรอบเวลาให้เร็วขึ้นในช่วง 10 ปี (พ.ศ.2564 -2573) จากดำเนินกำหนดเป็นปี 2561-2580

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเร่งออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการใช้พลังงานของโลกและกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 โดยในไตรมาส 1/2565 คาดว่าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) 883 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ระหว่างปี 2565-2568 และโครงการพลังงานลม 400 เมกะวัตต์ กำหนด COD ระหว่างปี 2567-2568 อย่างไรก็ตามจากแผน PDP นั้นกำหนดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ระหว่างปี 2565-2573 ประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

ส่วน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากระยะที่ 2 บวกกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 485 เมกะวัตต์ คาดว่าจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในไตรมาส 3/2565 และกำหนด COD ระหว่างปี 2566-2571 โครงการโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส (ชีวภาพ) ขนาดกำลังการผลิต 335 เมกะวัตต์ คาดว่าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 3/2565 เช่นกัน โดยมีกำหนด COD ระหว่างปี 2566-2568

ขณะที่ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกำลังการผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ มีกำหนดทยอยรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ COD ในปี 2567-2568 ปีละ 100 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าขยะชุมชนขนาดกำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ โดยแบ่งรับซื้อไฟฟ้าเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในปี 2567 จำนวน 200 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 ในปี 2568 อีก 200 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าขยะชุมชนนั้นคาดว่าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 4/2565 ซึ่งหากรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในปี 2565 จะอยู่ที่ 2,703 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามการประกาศรับซื้อไฟฟ้านั้นในขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างทบทวนปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจน และกำหนดราคาที่เหมาะสมใหม่ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และเมื่อ กพช.เห็นชอบแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

“เอกชนเฮ! พลังงานเร่งรับซื้อพลังงานทดแทน”

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัทเอกชนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ต่างก็ปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานของโลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เป็นบริษัทหนึ่งที่เตรียมขยายการลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในปี 2565 ซึ่งเป็นทิศทางของการใช้พลังงานทั่วโลก พร้อมเป้าหมายก้าวสู่ องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ปี พ.ศ. 2593)

โดยการขยายการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศไทยนั้น บี.กริม รอความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าในช่วงใด และจะมีกำลังการผลิตที่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกี่เมกะวัตต์ ซึ่งก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศไทยนั้น ล่าสุดได้เปิด COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดมุกดาหาร ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ยุพาพิน วังวิวัฒน์

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสู่ พลังงานสะอาด ภายหลังการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ โดยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต่อต้านผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยบริษัทมีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2573 จากปัจจุบันมีอยู่ราว 7% ดังนั้นการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจึงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญอีกอย่างของบริษัทไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทั้งในไทยตามแผน PDP และการมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img