วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEGC ลงทุนธุรกิจคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

GC ลงทุนธุรกิจคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

“ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมากขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนประธานาธิบดีคนใหม่เป็น นายโจ ไบเดน โดยภาคเอกชนหลายบริษัทได้วางเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเริ่มขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการดำเนินการในหลายวิธี ทั้งการลงทุนด้านพลังงานทดแทน การลงทุนนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดจากเศษวัสดุเหลือทิ้ง”

“ตอกเสาเข็มโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรไตรมาส 4”

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจกรีนเคมิคอล และขยายการลงทุนธุรกิจขั้นปลายน้ำ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร Polylactic Acid (“PLA”) มูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท โดย บริษัท GC International Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GC ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท Cargill, Incorporated ในบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จำกัด หรือ NatureWorks LLC (“NatureWorks”) โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50%

ทั้งนี้ การลงทุนก่อสร้างโรงงาน PLA นั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 4/2565 ในพื้นที่โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิต Lactic Acid ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PLA 75,000 ตันต่อปี และจะช่วยส่งเสริมมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของไทย โดยคาดว่าจะใช้น้ำตาลจากอ้อยมาเป็นวัตถุดิบปีละประมาณ 110,000 ตัน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

“มุ่งสู่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านั้น โดยระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรนั้นเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของภาครัฐอีกด้วยที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน (Bio Hub of ASEAN)

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้ GC มุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ และการขับเคลื่อนการชดเชยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายเดียวกันกับกลุ่มปตท. โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจ และยังได้ Transform องค์กร ได้แก่ Digital Transformation, Market Focused Business Transformation, Lean Process and Organization Transformation รวมทั้งปรับองค์กรเพื่อการดำเนินงานด้าน Decarbonization

ทั้งนี้ การซื้อหุ้นสามัญในบริษัท Allnex Holding GmbH หรือ allnex นอกจากเป็นการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ สร้างการเติบโตแล้วยังสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ที่มีเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 สู่การเป็นต้นแบบองค์กรเพื่อความยั่งยืนในระดับสากลสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสอดรับกับเมกะเทรนด์ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

“ขยายความร่วมมือภาครัฐหนุนลดปริมาณขยะพลาสติก”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า GC ได้ขยายความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและกากอุตสาหกรรม ล่าสุดได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมเชื่อมโยงการตลาดของเครือข่ายพันธมิตรทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ขับเคลื่อนเพื่อการลดปริมาณขยะพลาสติกและกากอุตสาหกรรม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) โดยใช้เส้นใยส่วนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปกัญชงเพื่อจัดการของเสียแบบขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) มาเพิ่มมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิต การแปรรูป รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสั้น หรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุและลดปริมาณขยะในภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ขณะที่บริษัทย่อยของ GC อย่าง GGC ก็ได้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย พร้อมกับการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรให้กับประเทศ อย่างเช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สารลดแรงตึงผิว ตลอดจนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศ มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง อาทิ เมทิลเอสเทอร์ เอทานอล แฟตตี้แอลกอฮอล์ (ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘THAIOL’) และกลีเซอรีน

“อย่างไรก็ตาม GC ยังคงมุ่งมั่นขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการต่อยอดจากธุรกิจเดิม และการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการขับเคลื่อนการชดเชยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img