วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“รฟท.”มอง“วิกฤตน้ำมันแพง” เป็นโอกาสดึงผู้ประกอบการใช้บริการขนส่งทางราง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รฟท.”มอง“วิกฤตน้ำมันแพง” เป็นโอกาสดึงผู้ประกอบการใช้บริการขนส่งทางราง

แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น แต่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มองว่าเป็นโอกาสที่จะต้องเร่งทำการตลาด เพื่อดึงให้ผู้ประกอบการขนส่งมาใช้ บริการขนส่งทางรถไฟ หรือ “ทางราง” เพื่อลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงในระยะยาว ซึ่งการขนส่งทางรถไฟนั้นสามารถช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี ด้วยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น รฟท. จึงได้เร่งทำการตลาดการขนส่งสินค้าทางราง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีลูกค้าหลายบริษัทติดต่อเข้ามายัง รฟท. อย่างต่อเนื่อง โดยสนใจเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการขนส่งสินค้าจากทางรถบรรทุกมาเป็นทางรถไฟ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งทางถนนเพิ่ม การขนส่งทางรางจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ปัจจุบัน รฟท.มีลูกค้าทั้งรายย่อย และรายใหญ่รวมกันกว่า 60 ราย และอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้ารายใหญ่ประมาณ 10 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2565

นิรุฒ มณีพันธ์

ทั้งนี้เพื่อรองรับการขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น รฟท. จึงมีแผนจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า (แคร่) เพิ่ม 965 คัน มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันการใช้แคร่ขนสินค้าค่อนข้างตึงตัว โดย รฟท. มีแคร่ขนสินค้าประมาณ 1,000 คัน ใช้ขนสินค้าแบบเหมาขบวน 40% และแบบรายย่อย 60% จึงมีความจำเป็นจะต้องเร่งจัดหาเพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างนำกลับมาวิเคราะห์ และเปรียบเทียบผลตอบแทนทางการเงินอีกครั้ง ระหว่างการเช่า การซื้อ และการจ้างเหมาบริการ คาดว่าจะเสนอกลับไปยังกระทรวงคมนาคมอีกครั้งในเดือนก.ค.-ส.ค.2565 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

“ปี 65 วางเป้ารายได้ขนส่งสินค้า 2 พันล้านบาท”

ส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งสินค้านั้นในปี 2565 รฟท. ตั้งเป้ารายได้จากการบริการขนส่งสินค้าที่ 1,500-2,000 ล้านบาท ปริมาณขนส่งสินค้า 12 ล้านตัน เติบโตจากปี 2564 มีปริมาณขนส่งสินค้าอยู่ที่ 11.3 ล้านตัน ประมาณ 2% ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าหมายมีปริมาณขนส่งสินค้าที่ 12.5 ล้านตัน อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-มี.ค.65) รฟท.ให้บริการขนส่งสินค้าไปแล้วประมาณ 8.7-8.8 ตัน ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าน่าจะเพิ่มมากขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของ รฟท. ในขณะนี้แบ่งเป็น ผู้โดยสาร 70% และขนส่งสินค้า 30% ซึ่ง รฟท. จะพยายามผลักดันให้ทั้งสองส่วนเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน

“รายได้จากการขนส่งสินค้าของ รฟท. จะเติบโตขึ้น เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายบริษัทให้ความสนใจหันมาใช้บริการขนส่งสิค้าทางรถไฟมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ แล้วเสร็จก็จะทำให้การเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งจะสามารถเชื่อมโยงได้กว้างขึ้น จึงเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการบริษัทขนส่ง ทั้งรายย่อย รายใหญ่หันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่การรถไฟฯ ก็ต้องมีการจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่ จัดหาแคร่ที่เพียงพอ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการให้บริการด้วย” นายนิรุฒ กล่าว

“ตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันช่วยผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น โดยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 34 บาทต่อลิตรนั้น แหล่งข่าว รฟท. เปิดเผยว่า รฟท. ได้ตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้เอกชนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นเวลา 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.65) ซึ่งส่งผลให้ รฟท. ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมน้ำมัน เพราะ รฟท. ต้องจ่ายค่าน้ำมันตามราคาตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร

โดยทุกๆ 1 บาทที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ รฟท. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามหลังจากเดือนสิงหาคม 2565 จะมีการขยายระยะเวลาตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อหรือไม่นั้น ขอพิจารณาประมาณการค่าใช้จ่ายก่อน และปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งหากรัฐมนตรีคมนาคมให้มีการขยายกรอบระยะเวลาการตรึงค่าธรรมเนียมน้ำมันออกไปอีกหลังจากสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2565 ก็คงต้องไปเจรจากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขอซื้อน้ำมันในราคาพิเศษ

บริษัท เอ็น.อี. (1992) จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เริ่มหันมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟ โดย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการบริหาร เอ็น.อี. กล่าวว่า บริษัทฯ ขนส่งเกลือเป็นล้านตันต่อปี โดยในส่วนของโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะนี้มีการขนส่งทั้งผ่านทางรถบรรทุก และรถไฟ ในสัดส่วน 50:50 วันละประมาณ 2 พันตัน หรือประมาณ 6-7 แสนตันต่อปี ซึ่งการที่ปรับมาขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้มาก โดยช่วยลดการว่าจ้างคนขับรถลงไปได้ถึง 70 คน ประหยัดค่าน้ำมัน และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย ในเร็วๆ นี้มีแผนจะเพิ่มการขนส่งสินค้าเกลือผ่านทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นจากประมาณเดือนละ 15 ขบวน เป็นเดือนละ 30 ขบวน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img