วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“การบินไทย”เดินหน้าฟื้นฟูกิจการ ตั้งเป้ากลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี 68
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“การบินไทย”เดินหน้าฟื้นฟูกิจการ ตั้งเป้ากลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี 68

“การบินไทย” เดินหน้าฟื้นฟูกิจการวางเป้ารายได้ปีนี้ 8 หมื่นล้าน กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี 68

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผน จนมาถึงปัจจุบันการบินไทยได้ดำเนินการตำแผนฟื้นฟูมากว่า 1 ปี ล่าสุดได้มีการปรับแผนฟื้นฟูใหม่และยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของศาลล้มละลาย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้ดำเนินการมาตลอด 1 ปีนั้นมีความคืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานเติบโตดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลทยอยเปิดประเทศตามแผน ตั้งแต่การนำมาตรการ Test and Go มาใช้ในการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางต่างๆ เรื่อยมาจนมาถึงการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ระบุว่า ความสำเร็จและคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างและขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมต่อสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการหาประโยชน์จากทรัพย์สินครองที่ไม่ได้อยู่ในแผนดำเนินธุรกิจทั้งจากการจำหน่ายและให้เช่าที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท โดยในขณะนี้มีกระแสเงินสดในมือราว 14,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากสภาพคล่องที่ดีขึ้นการบินไทยเลยต้องปรับแผนฟื้นฟูใหม่ โดยปรับแผนโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุนใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย การดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางการให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท

การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน ร้อยละ 24.5 เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 75.5 จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท

“เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุน”

การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อร้องรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้าน บาท และจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท

ขณะที่การจัดหาสินเชื่อนั้นทางการบินไทยได้เตรียม แผนจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท รวมทั้งการเตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย ทั้งนี้การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนนั้นจะส่งผลให้รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 80,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568

นนท์ กลินทะ

“การบินไทยตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่อง”

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินตอนนี้ฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนของการบินไทยก็มีปริมาณผู้โดยสารเติบโตสอดคล้องด้วย โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่พบว่า มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) สูงถึง 90% ส่งผลให้ภาพรวมเคบิ้นแฟกเตอร์สูงอยู่ที่ 70-80% ขณะที่ยอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ในเดือน ก.ค.นี้ สูงถึง 60% แล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง หลังจากที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ 1 ก.ค.2565

สำหรับแนวโน้มฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ที่จะเริ่มต้นในเดือน ต.ค.นี้ การบินไทยประเมินว่าจะมีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นการฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี และ คาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปี 2565 จะปิดตัวเลขอยู่ที่ 4.48 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 9.18 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.29 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่องปี 2567 วางเป้ารายได้ 1.57 แสนล้านบาท ปี 2568 วางเป้ารายได้ 1.62 แสนล้านบาท

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) การบินไทยมีเป้าหมายในปี 2565 จะมี EBITDA ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ปี 2566 เพิ่มเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และ 4.4 หมื่นล้านบาทในปี 2568

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร การบินไทยได้ปรับแผนนำเครื่องบินที่ตามแผนจะปลดระวาง นำมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้บริการเสริมฝูงบินรองรับไฮซีซั่นนี้ จำนวน 5 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินรุ่นแอร์บัส เอ330 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 777-200 จำนวน 2 ลำ โดยจะนำไปให้บริการในเส้นทางที่ทำกำไรและมีความต้องการสูง อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่การบินไทยอยู่ระหว่างขอเพิ่มความถี่เที่ยวบิน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img