วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEบทบาทเชิงรุก“อัยการ”ในการค้นหาความจริงที่ชาวบ้านอยากเห็น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บทบาทเชิงรุก“อัยการ”ในการค้นหาความจริงที่ชาวบ้านอยากเห็น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด เผยแพร่รายงานเรื่อง “บทบาทอัยการในการสืบสวนแสวงหาความจริง” ของ “จตุพร อาจคงหาญ” และ “กนกศักดิ์ พ่วงลาภ” อัยการผู้เชี่ยวชาญ มีเนื้อหาดังนี้…

บทบาทของพนักงานอัยการในการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงสามารถทำได้ในบริบทของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๖ ที่บัญญัติรองรับไว้ และอาจทำได้ในขอบเขตที่กว้างขวาง เมื่อพิจารณาประกอบ มาตรา ๑๔ และ มาตรา ๒๓ จะเห็นได้ว่า ให้อำนาจอัยการครอบคลุมในการปฏิบัติการในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้เป็นอย่างดี

การสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าสามารถดำเนินการได้ ทั้ง ก่อนและหลัง จากที่พนักงานอัยการรับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ทั้ง ๒ กรณีปัจจุบันอัยการมีการนำมาใช้ทางปฏิบัติบ้าง แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนใหญ่แล้วอัยการจะมุ่งเน้นพิจารณาคดีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาให้พิจารณา หากเห็นว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความ จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่ม แต่ในบางครั้งการสอบสวนเพิ่มเติมนี้ ก็ไม่ทำให้ได้รับข้อเท็จครบถ้วนแต่อย่างใด

การใช้อำนาจสืบสวนตามกฎหมายดังกล่าวทั้ง ๓ มาตรานี้ เป็นการใช้อำนาจเฉพาะการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้ล่วงเลยไปถึงขั้นสอบสวนแต่อย่างใด แต่หากสืบสวนได้ข้อเท็จจริงหรือหากมีพฤติการณ์อื่นที่อยู่ในอำนาจของอัยการต้องทำการสอบสวน หรือควรเข้าไปคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ตามกฎหมาย พนักงานอัยการก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย เช่นสืบสวนพบว่า มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่ากระทำการตามหน้าที่หรือตายระหว่างควบคุมของเจ้าหน้าที่ หรือพบว่าเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร หรือพบว่ามีการจับกุมหรือคุมขัง

ผู้ต้องหาหรือบุคคลอื่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซี่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ต้องดำเนินการ เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพ เข้าสอบสวนหรือเข้าร่วมสอบสวน หรือต้องมีคำร้องขอต่อศาลให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังแล้วแต่กรณีไป ทั้งนี้เป็นอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๐, ๙๐, ๑๔๓, ๑๕๐, ๑๕๐/๑ เป็นต้น ซึ่งกรณีดังกล่าวหากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรง จงใจปกปิดการกระทำหรือปกปิดความผิด เช่นกรณีคดีวิสามัญฆ่าตกรรมที่เป็นข่าวใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์ พนักงานอัยการและเจ้าพนักงานอื่นก็ไม่อาจทราบได้ ดังนั้นการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงของอัยการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง จึงเป็นไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว

การสืบสวนดังกล่าว เป็นการแสวงหาและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่จะเก็บได้ โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย กล่าวคือการเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุและเก็บหลักฐานโดยความยินยอมของเจ้าของ การสอบปากคำบุคคลที่ยินยอมให้ถ้อยคำพยานและสิ่งของวัตถุพยานที่เก็บมาได้ จะเป็นหลักฐานที่จะนำมาเปรียบเทียบกับสำนวนการสอบสวนของตำรวจ การสืบสวนของอัยการจะทำคู่ขนานไปกับการสอบสวนของตำรวจ ในลักษณะที่ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และอาจร่วมกันกับตำรวจ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าพนักงานอื่นในการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐาน และพยานหลักฐานบางอย่าง ถ้าจำเป็นต้องตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบให้ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือไว้กับสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงาน การมีพยานหลักฐานในชั้นพนักงานอัยการเพิ่มขึ้น จะเป็นส่วนเติมเต็มให้พยานหลักฐานในคดีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พยานหลักฐานที่เก็บมาได้นั้น เป็นพยานหลักฐานชั้นดี เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เก็บในเวลาที่ใกล้ชิดกับเวลาที่เกิดเหตุ

หลักฐานที่ได้จากการสืบสวนของพนักงานอัยการ แม้ไม่ใช่หลักฐานที่ได้จากการสอบสวน แต่อาจนำไปใช้ในการนำสืบในชั้นศาลได้ เช่นกรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาให้พิจารณา แต่ขาดพยานหลักฐานที่สำคัญ ที่พนักงานอัยการได้จัดเก็บไว้ดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามพยานหลักฐานที่จัดเก็บไว้ หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งพยานนั้น มาซักถามเพื่อสอบสวนต่อไปได้ และนำพยานเช่นว่านั้นเข้ามาในสำนวนคดีและนำสืบในชั้นศาลได้ แต่เพียงเท่านี้ถือว่ามีคุณค่ามากในการอำนวยความยุติธรรม ในภาพรวมยังเป็นการป้องกันการบิดเบือน ป้องปรามความคิดของบุคคลใดก็ตาม ที่คิดจะยักย้ายถ่ายเทหรือปกปิดพยานหลักฐานได้

ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

อีกทั้ง ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ไม่ได้ห้ามนำสืบพยานหลักฐานที่เก็บได้ในชั้นพนักงานอัยการหรือพยานหลักฐานของผู้เสียหาย เพียงแต่ศาลจะรับฟังหรือไม่ อย่างไร มีน้ำหนักแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าพยานหลักฐานนั้นเป็นพยานชนิดใดและมีน้ำหนักน่ารับฟังแค่ไหน ซึ่งศาลอาจจะรับฟังได้เช่นเดียวกับพยานหลักฐานที่ผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนก็ได้ หรืออีกนัยคือ หากพยานหลักฐานนั้น เป็นประจักษ์พยานสำคัญ และยิ่งผ่านการตรวจเก็บรวบรวมโดย เจ้าพนักงานของรัฐหลายฝ่ายมาร่วมมือกันในการจัดเก็บรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานหลักฐานนั้นก็ต้องเป็นพยานหลักฐานชั้นดีที่น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักดีที่น่ารับฟังตามกฎหมาย ยิ่งกว่าพยานหลักฐานที่จัดเก็บโดยเจ้าพนักงานฝ่ายเดียวเสียอีก

เกี่ยวกับเรื่องการสืบสวนในชั้นพนักงานอัยการการนั้น “ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง” ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การสืบสวนเป็นการแสวงหาข้อมูลธรรมดาๆ ไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษอะไร ใครมีหน้าที่ทำภารกิจใด ก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งนั้น เพียงแต่กระบวนการยุติธรรมเรียกว่า การสืบสวน ส่วนวงการอื่นเรียกว่า การสอบถามข้อมูลหรือเรียกอะไรก็ได้”

การสืบสวนนี้อาจกล่าวได้ว่า ในทุกองค์กรของทางราชการต้องมีการสืบสวนหาข้อมูล ก่อนจะตัดสินใจกระทำการหรือมีคำสั่งใด ๆ การทำงานของราชการแต่ละหน่วย อาจมีภารกิจงานที่ซ้อนทับกันอยู่โดยธรรมชาติ เช่น การสืบสวนของ ป.ป.ง. บางส่วนอาจซ้อนทับกับการสืบสวนของตำรวจ หรือกรมการปกครอง หรือแม้กระทั่งสำนักข่าวกรอง สำนักงานเกี่ยวกับความมั่นคงอื่น ในขณะที่องค์กรหนึ่งหาข้อมูล อีกองค์กรหนึ่งก็กำลังหาข้อมูลอยู่เหมือนกัน มองในแง่หนึ่งก็คือการหาข้อมูลในทางคู่ขนาน หากในสายงานกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย จะมีการทำงานในลักษณะนี้ ก็ไม่มีข้อเสียหายอย่างใด และจะเห็นว่าไม่ใช่การใช้อำนาจก้าวก่ายทับซ้อนระหว่างหน่วยงาน แต่เป็นการร่วมมือกันทำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน และสอดคล้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ ง. (๒) ที่บัญญัติให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลไว้

การแสวงหาข้อมูลในทางคู่ขนานในชั้นพนักงานอัยการ สมควรที่จะมีขึ้นเพื่อรองรับการอำนวยความยุติธรรมในเชิงรุก ระบบการสืบสวนคู่ขนานนี้ มีปรากฏชัดในระบบอัยการประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีประสิทธิภาพภาพมาก ตามที่ปรากฏเห็นชัดแล้วว่า อัยการเกาหลีใต้สามารถดำเนินคดีกับบุคคลสำคัญได้ นั่นแสดงว่า ระบการสืบสวนของพนักงานอัยการทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาเป็นแบบอย่าง หรือเป็นโมเดลในการพัฒนางานสืบสวนสอบสวน

การทำงานในเชิงรุกในการสืบสวนนี้ เป็นไปเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และเป็นการปฏิรูปการสอบสวนในประเทศไทยโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย แต่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมภารกิจหน้าที่ให้ครบถ้วน อีกทั้งการตีความการใช้กฎหมาย ควรเลือกการตีความแล้วเป็นผล มากกว่าตีความแล้วไร้ผล เพราะหากถือเอานัยที่ไร้ผล กฎหมายนั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง ไม่สมเจตนารมณ์ของกฎหมาย ยิ่งนัยที่เป็นผลนั้นทำได้ทันที ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย หากทำทันทีแล้วก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทันทีเช่นเดียวกัน

ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

อีกประการ หากมองว่าการที่อัยการเข้าไปลงพื้นที่เพื่อตรวจดูที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจและ/หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและ/หรือเจ้าพนักงานอื่นนั้น เป็นการร่วมกันทำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งอัยการเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีอาญาและสืบพยานในชั้นศาล ย่อมต้องทราบดีว่า พยานหลักฐานชิ้นใดเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่จะดำเนินการ เพื่อให้รู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือเพื่อที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบุคคลใด เมื่อมองภาพรวมผลของสังคมการที่อัยการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงเพียงฝ่ายเดียวหรือร่วมกับเจ้าพนักงานฝ่ายอื่นดังกล่าวแล้ว จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในด้านการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนเป็นอย่างมาก ในส่วนของพนักงานสอบสวนเอง ก็จะทำงานได้สะดวกมากขึ้น เพราะทุกหน่วยงานล้วนมาร่วมมือกันมาช่วยกันค้นหาพยานหลักฐาน เพื่อจะได้รู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาหรือ

พูดง่าย ๆ คือ มีคนมาช่วยทำงานที่นั่นเอง อีกทั้งหากมีข้อกฎหมายอันยุ่งยากซับซ้อน อัยการสามารถให้คำปรึกษาได้ทันที การแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาก็จะเป็นไปตามความผิดที่ได้กระทำไป ไม่แจ้งข้อหาเกินความจริงหรือแจ้งให้หนักไว้ก่อนจนต้องพิจารณาสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในบางข้อหา ทำให้คดีล่าช้าจนผู้เสียหายและผู้ต้องหาไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิหรือได้รับความเสียหาย อีกทั้ง

หากเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมร่วมมือกันทำงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง จะทำให้บุคคลอื่นผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกรงกลัวไม่กล้าจะกระทำความผิด บ้านเมืองจะสงบสุขมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกันกับในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น บ้านเมืองสงบสุข ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น หากบ้านเราเจ้าพนักงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม มีการร่วมมือกันทำงานในการกันป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง บ้านเมืองไทยเราก็จะสุขสงบได้เช่นเดียวกัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img