วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกHighlightเลือกประกันอย่างไร??? ให้พอดี สำหรับ“การลดหย่อนภาษี”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เลือกประกันอย่างไร??? ให้พอดี สำหรับ“การลดหย่อนภาษี”

การใช้ชีวิตทุกวันนี้มีความเสี่ยงอยู่รอบตัว “ประกัน” คือตัวช่วยสำคัญในการปิดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แต่ต้องมั่นใจว่า ประกันที่เรามีอยู่ให้ความคุ้มครองครบและพอดีกับทุกด้านของชีวิต สามารถปิดความกังวลในทุก ๆ ด้าน ทั้งกลัวเจ็บจากเรื่องสุขภาพและโรคร้าย, กลัวจนเพราะไม่มีเงินออมเกษียณ และกลัวว่าเมื่อจากไปแล้ว จะไม่มีคนดูแลคนข้างหลัง ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนที่ซื้อประกันไว้ แต่ไม่ได้ดูความคุ้มครอง เมื่อเจ็บป่วย หรือจำเป็นต้องใช้ผลประโยชน์จากประกัน กลับพบว่าไม่เพียงพอ ทำให้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตกะทันหัน เงินที่ได้จากประกันมีไม่พอที่จะดูแลตัวเองและส่งต่อให้ครอบครัวที่เรารัก

แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประกันที่มีพอดีกับชีวิต? มาส่อง 4 พฤติกรรมที่ทำให้ประกันที่มีอยู่ “คุ้มครอง แต่อาจไม่ครอบคลุม”

1.ซื้อประกันตั้งใจไว้ลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดความคุ้มครองว่าพอดีกับตัวเองหรือไม่

หลายคนเริ่มต้นซื้อประกันโดยมีจุดมุ่งหมายคือ การลดหย่อนภาษี ทำให้การเลือกซื้อ ดูแค่เบี้ยประกันภัยที่ต้องการจะใช้ลดหย่อนภาษี แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดความคุ้มครองว่าครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคุ้มครองชีวิต สุขภาพ หรือต้องการเงินคืนหลังเกษียณ หรือบางคนตั้งใจจะใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีในปีนี้มากเกินไป จนลืมนึกถึงอนาคตว่า จะยังสามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยต่อเนื่องไปอีกหลายปีได้หรือไม่ (ประกันชีวิตหรือประกันบำนาญส่วนใหญ่ จะต้องมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยหลายปี)

ดังนั้น นอกจากจะต้องคำนวณรายได้ เพื่อให้เข้าใจถึงฐานภาษีของตัวเองสำหรับซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีแล้ว อยากให้นึกถึงความคุ้มครองที่ต้องการ และอย่าลืมประเมินความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคต จะทำให้คุณสามารถใช้สิทธิ์ทั้งในแง่ของการลดหย่อนภาษีและความคุ้มครองตามเงื่อนไขของประกันได้ครบถ้วน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่แท้จริงของประกันที่ทำไว้

สำหรับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีของประกัน มีดังนี้ เบี้ยฯประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 100,000 บาท เบี้ยฯประกันสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยฯประกันชีวิตแล้ว จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท เบี้ยฯประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (ในกรณีที่ไม่มีเบี้ยประกันภัยคุ้มครองชีวิตแบบอื่น ๆ)

2.ทำประกันเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่เพิ่งมารู้ว่าเงินที่จะได้หลังเกษียณไม่พอใช้  

การวางแผนเพื่อรองรับชีวิตในวัยเกษียณเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ แต่บางครั้งการเตรียมความพร้อมด้วยการซื้อประกันบางประเภท ก็อาจไม่ตรงกับความต้องการจริง ๆ เช่น ซื้อประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปี โดยลืมคิดไปว่าจะได้เงินคืนก่อนวัยเกษียณ ก็อาจใช้เงินหมดก่อนที่จะเกษียณจริง ๆ ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่าประกันที่ทำไว้ จะทำให้คุณจะมีเงินใช้ในวัยเกษียณมากพอตามที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง

3.ซื้อประกันไว้หลายฉบับเป็นเรื่องดี แต่แน่ใจหรือไม่ว่าพอดีกับชีวิต หรือตรงกับความต้องการของเราจริง ๆ ก่อนซื้อประกันจึงควรศึกษาข้อมูลของทุกกรมธรรม์อย่างละเอียด

ประกันไม่พอดีเพราะมีมากเกินไป ให้ความคุ้มครองที่มากเกินความจำเป็น เช่น ประกันสุขภาพที่คุ้มครองถึงหลายร้อยล้านบาท ซึ่งมาพร้อมกับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงมาก เพิ่มภาระในการหาเงินมาจ่ายเบี้ยประกันภัยหรืออาจเสียโอกาสนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนแบบอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นได้

ประกันไม่พอดีเพราะมีน้อยไป ทำให้ได้รับความคุ้มครองน้อยเกินไป ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ซื้อประกันโรคร้ายแรงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพ พอเจ็บป่วย ก็เบิกค่ารักษาไม่ได้ครอบคลุม ดังนั้น ควรสำรวจตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อประกันว่า ชีวิตในวันนี้ยังขาดความคุ้มครองเรื่องใดอยู่บ้าง เพื่อที่จะเติมเต็มและปิดความเสี่ยงให้ครบทุกด้าน และยังคุ้มค่ากับเงินของคุณ

4.ทำประกันไว้เพื่อครอบครัว แต่เพิ่งรู้ว่า ถ้าเราจากไป เงินที่ได้ไม่เพียงพอดูแลคนที่เรารัก

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า 56% ของประกันชีวิตในไทยเป็นแบบสะสมทรัพย์ โดยเป็นประกันที่เอาไว้เก็บเงิน จะให้ผลตอบแทนเป็นเงินก้อนเมื่ออยู่ครบสัญญา แต่ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะไม่สูงมากนัก ต่างจากประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิต ที่อาจจะไม่มีผลตอบแทนเมื่อครบสัญญา แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างสัญญา คนข้างหลังจะได้รับเงินก้อนใหญ่ที่จะช่วยดูแลพวกเขาแทนเราได้ (ตามเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์) ดังนั้น ลองพิจารณาว่า เงินที่ได้จากประกันที่ทำไว้ จะสามารถจ่ายภาระหนี้ของเราได้หมด และดูแลครอบครัวที่เรารักได้พอดีตามที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง

…………………………..

ข้อมูลจาก ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb)  https://ttbbank.com/ba-tax-saving2

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img