วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกLIFE STYLEWHF ต้องรู้จักป้องกัน’’computer vision syndrome ‘’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

WHF ต้องรู้จักป้องกัน’’computer vision syndrome ‘’

’จักษุแพทย์’’แนะดูแลดวงตาในสถานการณ์ที่ต้อง Work from home ทำงานอยู่บ้าน จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว ควรปรึกษาจักษุแพทย์

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มีความจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home มีผลให้ชีวิตส่วนตัว และงานถูกรวมเข้าด้วยกัน จนอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทำงานเกินเวลา โดยอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนทำให้ต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
แต่ว่าการทำงานอยู่ที่บ้านแบบนี้มีทั้งผลดีที่ไม่ต้องไปพบปะกับผู้คน ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และได้อยู่บ้านกับครอบครัว แต่ถ้าไม่แบ่งเวลาการทำงานให้เหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะดวงตาที่ต้องรับภาระจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือการประชุมผ่านอินเตอร์เน็ต จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตาที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์

ด้านนพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) แนะนำว่า ในสถานการณ์ที่ต้องWork from home ทำงานอยู่บ้าน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท๊บเล็ท สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้

หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน อาจบ่งบอกว่าอาจอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า computer vision syndrome แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้

ขณะที่แพทย์หญิงกนกทิพย์ มันตโชติ นายแพทย์ชำนาญการ อธิบายเสริมว่า ภาวะcomputer vision syndrome คือกลุ่มอาการทางตา ที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยจะมีอาการดังกล่าวข้างต้น มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยประสบกับกลุ่มอาการนี้

ทั้งนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่นการกระพริบตาลดลงขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ตาแห้ง แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม รวมทั้งการมีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ และการที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่คมชัดจึงทำให้ต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ และระยะห่างจากหน้าจอที่ไม่เหมาะสม รวมถึงระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ และท่าทางในการนั่งที่ไม่เหมาะสม

วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะcomputer vision syndromeได้แก่ 1.กะพริบตาให้บ่อยขึ้น การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้เช่นกัน

2.ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยลดแสงสว่างจากภายนอก หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา

3.พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุตทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้ 4.ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว

5.ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนานๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ประชุมออนไลน์จนดึกดื่น และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่บ้านไปอีกนานเท่าไหร่ แนะนำดูแลสุขภาพตัวเอง จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ตรวจเช็คดวงตา เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img