วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
หน้าแรกHighlight“กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ซ่อนปัญหาใหญ่กว่าที่คิด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ซ่อนปัญหาใหญ่กว่าที่คิด

อาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน อาการที่หลายคนอาจชะล่าใจ คิดว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือเป็นเวลานาน เป็นสัญญาณของ “โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่คิด

รศ.พญ.พริมา หิรัญวิวัฒน์กุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขปัญหาสุขภาพ โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG:Myasthenia Gravis) ว่า เป็นโรคที่พบได้ในประชากรวัยผู้ใหญ่และวัยทำงานในปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้หลายคนสับสนกับภาวะตาล้าหรือตาแห้ง จากการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานตามปกติ

สำหรับอาการสำคัญคือ หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ เกิดภาพซ้อน ลักษณะคือเห็นภาพ 2 ภาพเหลื่อมกันหรือเห็นภาพแยกออกจากกัน เนื่องจากแนวการมองของดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในตำแหน่งเดียวกัน แต่หากคนไข้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง ภาพซ้อนดังกล่าวจะหายไป

อย่างไรก็ดี อาการดังกล่าวไม่จำเพาะว่าจะเป็นอาการของ โรค MG เท่านั้น แต่อาจเกิดจากการที่เส้นประสาทในสมองมีปัญหาและโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน โรค MG ไม่ได้เกิดขึ้นที่ตาอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งโรค MG ที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อตาอาจจะเป็นอาการนำของโรค MG แบบทั่วร่างกายได้

ส่วนสาเหตุ และการเกิด โรค MG รศ.พญ.พริมา อธิบายว่า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ทำให้สารสื่อประสาททำงานลดลง และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยปกติ ร่างกายของคนเรา เวลาที่จะใช้กล้ามเนื้อทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง สมองจะสั่งการผ่านเส้นประสาท แล้วเส้นประสาทจะหลั่งสารสื่อประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีตัวรับสารสื่อประสาทอยู่บนตัวกล้ามเนื้อนั้นๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดตัว ทำงานได้ตามปกติ

รศ.พญ.พริมา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรค MG สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งหากคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ สมาชิกในครอบครัวก็มีโอกาสจะป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน โดยปกติแล้วโรค MG มักเกิดขึ้นกับคนในผู้หญิงช่วงวัย 20-40 ปี แต่ในผู้ชายจะพบหลัง 50 ปี แต่หากพบในคนไข้ที่อายุมากๆ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคมะเร็งต่างๆ แม้จะพบน้อย แต่ควรตรวจให้ละเอียด เนื่องจากมีมะเร็งหรือเนื้อร้ายหลายชนิดที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดปัญหาคล้ายๆ กับ โรค MG ได้

รศ.พญ.พริมา แนะวิธีสังเกตอาการของโรค MG ด้วยตัวเอง และกล่าวเสริมถึงวิธีการทดสอบอาการโรค MG เบื้องต้นอย่างง่าย 2 แบบ คือ

1.Sleep Test  โดยให้ผู้ที่มีอาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น นอนหลับพักผ่อนสัก 45-60 นาที ถ่ายรูปเซลฟี่เพื่อใช้เปรียบเทียบระหว่างก่อนนอน หลังตื่นนอน และหลังจากทำกิจวัตรประจำวันตามปกติไปสักระยะแล้ว พอตื่นขึ้นมาแล้วก็สังเกตดูว่า สามารถลืมตาได้ตามปกติ ตาโตเท่ากันทั้งสองข้างหรือไม่ อาการหนังตาตกกลับมามากขึ้นในช่วงบ่ายหรือหลังทำงานหรือเปล่า หากมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือหลังตื่นนอนดวงตาดูสดใส ลืมได้กว้างขึ้น แต่พออยู่ไปสักพักก็กลับมาหนังตาตก ตาหรี่แคบลง ก็น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นอาการบ่งชี้ของโรค MG

2.Ice Test หรือการประคบเย็น โดยวางน้ำแข็งหรือแผ่นทำความเย็นบนเปลือกตาขณะหลับตา ประมาณ 2 นาที แล้ววัดความกว้างของดวงตาว่าสามารถเปิดหรือลืมตาได้ดีขนาดไหน เมื่อเทียบกับก่อนทำ Ice Test ซึ่งหากทำในโรงพยาบาล หากความกว้างของดวงตาต่างกันตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรขึ้นไป ก็จะถือว่ามีผลบวก

ทั้งการทดสอบด้วย Sleep Test และ Ice Test หากหนังตากลับมาตกอีก ก็สงสัยได้ว่าจะมีอาการของโรค MG ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย ทดสอบ เจาะเลือดตรวจหาไทรอยด์ ตรวจดูภูมิคุ้มกันต่างๆ ตรวจดูกระแสไฟฟ้ากล้ามเนื้อ หรือเอ็กซเรย์เพื่อตรวจหาเนื้องอกต่อมไทมัส (Thymoma) และอื่นๆ ต่อไป

สำหรับวิธีการรักษา โรค MG รศ.พญ.พริมา บอกว่า  โรค MG จะรักษาด้วยการให้ยาเท่านั้น ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่กลุ่มยาที่เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นประเภทที่มีความปลอดภัยสูง แต่อาจมีผลข้างเคียงในช่วงแรกๆ เช่น ปวดท้อง ถ่ายท้อง น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก โดยจะมีอาการมากในรายที่เริ่มทานยาในขนาดที่สูง

กลุ่มยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะใช้เมื่อยาในกลุ่มแรกให้ผลที่ไม่ดีพอ หรือเริ่มมีอาการอื่นนอกจากหนังตาตก แต่จะมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมาก เช่น สิวขึ้น อ้วนขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันต่ำลง ในคนไข้ที่ได้รับยา ทั้งนี้ ห้ามคนไข้หยุดยาเอง เนื่องจากจะมีผลข้างเคียง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ หรือฮอร์โมนผิดปกติตามมาได้

กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุด มีฤทธิ์ทำลายตับหรือกดไขกระดูก แต่หากคนไข้มีอาการเพียงหนังตาตกเล็กน้อย ไม่มีอาการอื่น แพทย์ให้เพียงยาหยอดตากลุ่มที่สามารถทำให้เปลือกตายกขึ้นได้ไปใช้ ซึ่งจะปลอดภัยมากที่สุด

 “หากคนไข้ทำการผ่าตัดดึงหนังตาโดยไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรค MG เมื่ออาการของโรคดีขึ้นหรือได้รับการรักษาอาจจะทำให้เปลือกตาถูกยกรั้งขึ้นผิดปกติ กลายเป็นหนังตาเหลือก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรมผ่าตัดหนังตา หากคนไข้มีอาการต่างๆ ข้างต้น ควรได้รับการตรวจว่าไม่ได้เกิดจากโรค MG ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดหนังตาหรือทำศัลยกรรมทำตาสองชั้นเพื่อแก้ไขหนังตาตกต่อไป”

รศ.พญ.พริมา แนะนำผู้ป่วย โรค MG ให้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นโรคต่างๆ ได้แก่ การอดนอน พักผ่อนน้อย หรือการทำงานหนักจนเหนื่อยมากๆ การอยู่ในที่อากาศร้อน มีแสงจ้ามากๆ เป็นต้น โรค MG ไม่ชอบความร้อน หากผู้ป่วยอยู่ในที่อากาศเย็นอาการจะดีขึ้น สำหรับคนไข้เพศหญิง ช่วงที่มีประจำเดือน อาการของโรคอาจจะแย่ลงกว่าปกติ ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าเดิม พักผ่อนให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ คนไข้ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อต่างๆ หากไม่สบาย เป็นไข้หรือเป็นหวัด อาการของ โรค MG ก็จะแย่ลงตามไปด้วย การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยากันชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็อาจทำให้อาการแย่ลงเช่นกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MG เมื่อไปทำการรักษาโรคอื่นๆ ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชยากรทุกครั้งว่าเป็น โรค MG และตอนนี้ทานยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อความปลอดภัยของคนไข้เอง” รศ.พญ.พริมา กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img