วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกHighlightไขข้อสงสัย“ภาวะมีบุตรยาก” และวิธีเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไขข้อสงสัย“ภาวะมีบุตรยาก” และวิธีเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว

ว่ากันว่ากว่า คนสองคนจะพร้อมมีลูก ทั้งคู่ต้องคิดเผื่อสารพัดคำถามล่วงหน้าหลายสิบข้อ เพื่อตระเตรียมความพร้อมต้อนรับ ‘เจ้าตัวน้อย’ เข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ในบ้าน …แต่ในตอนที่ทุกอย่างเกือบจะมาถึงจุดหมาย ว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่มือใหม่กลับต้องเผชิญสิ่งที่หลายครอบครัวไม่อยากเจอ อย่าง “ภาวะมีบุตรยาก” ปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและความสัมพันธ์

ความหมายของภาวะมีบุตรยาก คือการที่คู่สมรสไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด โดยปกติจะนิยามว่ามีบุตรยากได้ จะนับจากระยะเวลาหลังจากการใช้ชีวิตคู่อย่างน้อย 1 ปี แต่ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่โดยใช้อายุของฝ่ายหญิงมาตัดสินร่วมด้วย คือถ้าอายุน้อยกว่า 35 ปี จะนิยามด้วยเกณฑ์เวลา 1 ปีเท่าเดิม แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี จะนับเวลาแค่เพียง 6 เดือน เพราะคุณภาพไข่จะลดลงไปตามวัย และจะแย่ลงไปอีกหากฝ่ายหญิงมีอายุเกินกว่า 38 ปีขึ้นไป

แม้คำนิยามของภาวะขึ้นกับอายุฝ่ายหญิงเป็นหลัก แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากก็สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งฝั่งผู้ชายและฝั่งผู้หญิง ซึ่งทางฝ่ายชายมักมาจากความผิดปกติของอสุจิเป็นหลัก อาทิ

·ฮอร์โมนไร้ท่อจากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ

·ตัวอัณฑะเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือการฉายแสง

·อสุจิไม่ออกมา จากการที่ท่อนำอสุจิตัน หรือมีการไหลย้อนของอสุจิกลับไปที่ท่อปัสสาวะ

·โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่นโรคเบาหวาน อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือป่วยเป็นคางทูม ที่อาการรุนแรงจนส่งผลถึงตัวอัณฑะ

·ปัญหาทางจิตเวชและความเครียดต่าง ๆ

ในทางฝ่ายหญิง นอกจากปัจจัยหลักด้านอายุที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพของไข่แล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน โดยเฉพาะความผิดปกติในอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น

·ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ไม่สร้างฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่จนไม่เกิดการผลิตไข่ขึ้นมา

·ความผิดปกติของรังไข่ เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS)

·ภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร

·มีการผ่าตัดที่ตัวรังไข่หรือเกิดการติดเชื้อมาก่อน จนทำให้เหลือเนื้อรังไข่น้อย

·เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ท่อรังไข่บวม ตัน หรืออยู่ผิดตำแหน่ง

·ตัวมดลูกผิดรูป ที่เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

·โรคอย่าง “ช็อกโกแลตซิสต์” ที่เกิดจากการอักเสบในอุ้งเชิงกราน จนเกิดเป็นผังพืดและอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

แพทย์หญิงพิชชา ปิ่นจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลเสริมว่า การตรวจสอบภาวะมีบุตรยากในทางการแพทย์ จะตรวจสอบได้ทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยทั่วไปของฝ่ายชายคือการเก็บอสุจิส่งตรวจ โดยจะดูในเรื่องจำนวน เปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหว และรูปร่างของอสุจิ ส่วนของฝ่ายหญิงจะเป็นการตรวจภายในทั่วไป และอัลตร้าซาวด์หาความผิดปกติของอวัยวะ หรือมากกว่านั้น แพทย์จะใช้วิธีฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือส่องกล้องในช่องโพรงมดลูก เพื่อดูเรื่องของเนื้องอกติ่งเนื้อต่าง ๆ เข้ามาประกอบ

“เมื่อพบสาเหตุแล้ว ก็เท่ากับว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากยาหรือการผ่าตัดแล้วยังไม่สามารถมีบุตรเองได้ ทางเลือกต่อไปที่มีโอกาสมากที่สุด คือการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์อย่าง IVF เข้ามาช่วย หรือที่เราเรียกกันว่าการทำเด็กหลอดแก้ว”

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In-Vitro Fertilization) คือเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มโอกาสการมีบุตรด้วยการนำไข่และอสุจิของคู่สมรสออกมาปฏิสนธิกันนอกร่างกาย วิธีการคือแพทย์จะใช้ยากระตุ้นไข่ลักษณะฮอร์โมนแบบฉีดต่อเนื่องราว 8-12 วัน เพื่อเพิ่มจำนวนไข่ จากนั้นจึงเจาะดูดไข่ออกมา แล้วจึงฉีดอสุจิของคู่สมรสเข้าไป เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิและเกิดเป็นตัวอ่อนในหลอดแก้ว และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตัวอ่อนนั้นจะถูกย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงให้เกิดการฝังตัว พร้อมตั้งครรภ์ในท้ายที่สุด

แพทย์หญิงพิชชา ยังเสริมต่อว่า  ในวันเดียวกับที่เราเก็บไข่ แพทย์จะให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิออกมาด้วย ซึ่งในกรณีที่เก็บอสุจิไม่ได้หรือฝ่ายชายไม่มีอสุจิ แพทย์จะทำการเจาะอสุจิจากบริเวณท่อพักหรือจากตัวอัณฑะออกมา อีกทั้งในระหว่างกระบวนการทำ IVF จะใช้วิธี ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) จากปกติที่เราจะให้อสุจิจำนวนหนึ่งเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง แต่ ICSI หรืออิ๊กซี่ คือการคัดเลือกอสุจิที่ดูดีและเคลื่อนไหวได้ดีมา 1 ตัว แล้วจึงฉีดเข้าไปในไข่ เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการปฏิสนธิให้มีมากขึ้น

อัตราความสำเร็จในการทำ IVF ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของอสุจิ คุณภาพของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิ ไปจนถึงความปกติของมดลูก แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด จะขึ้นอยู่กับ ‘อายุของฝ่ายหญิงเป็นหลัก’ โดยการทำ IVF กับคู่สมรสที่อายุยังน้อย โอกาสตั้งครรภ์จะมีสูงถึง 30-40% แต่ถ้าทำในตอนอายุ 40 ปี โอกาสจะลดเหลือ 10-15% ยิ่งพออายุมากกว่าขึ้นในหลัก 42 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะเหลือประมาณ 5-10% และเมื่ออายุเกิน 44 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะตั้งครรภ์จากการทำ IVF จะเหลือน้อยกว่า 5% โดยทฤษฎี

“ภาวะมีบุตรยาก เป็นหัวข้อที่คู่สมรสควรจะพูดคุยกับแพทย์ หรือวางแผนร่วมกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน หรืออย่างน้อยก็ควรใช้วิธีตรวจก่อน เพราะหากบางคู่พยายามมีบุตรเองแล้วมาพบเจอปัญหาเหล่านี้ทีหลัง รอจนระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน ไป 1 ปี แล้วอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จน 38-39-40 เท่ากับว่าคุณภาพไข่ก็จะยิ่งแย่ลงไปตามอายุ โอกาสในการตั้งครรภ์หรือแม้แต่กับการทำเด็กหลอดแก้ว ก็จะอาจจะช้าเกินไปเสียแล้ว” แพทย์หญิงพิชชา กล่าวสรุป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img