วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกHighlightรู้ทันโรค พร้อมรักษา“ไทรอยด์” ก่อนเสี่ยง“มะเร็ง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รู้ทันโรค พร้อมรักษา“ไทรอยด์” ก่อนเสี่ยง“มะเร็ง”

“ไทรอยด์ (Thyroid Gland)” เป็นต่อมไร้ท่อใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส ซึ่งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์นั้นจำเป็นต้องใช้ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ หากได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้การทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกระบบในร่างกาย

และหากจะกล่าวถึงโรคไทรอยด์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 5-10 เท่า ไม่ว่าจะเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคไทรอยด์ต่ำ โรคเนื้องอกไทรอยด์ และโรคมะเร็งไทรอยด์ โดยโรคมะเร็งไทรอยด์นั้นถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความเสี่ยงไม่ต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีโอกาสการรอดชีวิตสูงมากกว่า 90% หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งไทรอยด์นั้น จะเริ่มต้นจากการมีก้อนที่คอก่อน ซึ่งความสำคัญคือ คนไข้จะไม่มีอาการแสดงใด ๆเลย จนกว่ามะเร็งไทรอยด์จะมีการลุกลามไปยังเส้นประสาทเสียง ก่อให้เกิดภาวะเสียงแหบ หรือมีการกดเบียดหลอดลม ทำให้เกิดการหายใจลำบาก หรือมีการกดเบียดหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก เป็นต้น การที่คนไข้ไม่มีอาการ ทำให้เราวินิจฉัยคนไข้ที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ได้ยาก ต้องรอจนคนไข้มีก้อนขนาดใหญ่โตออกมาจนเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นคนไข้มีการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยการทำอัลตร้าซาวด์คอ จะทำให้สามารถพบเจอมะเร็งไทรอยด์ได้ในระยะเริ่มต้น

ดังนั้นการสังเกตความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของเราที่ไม่อาจมองข้าม จึงต้องหมั่นตรวจเช็คอาการป่วยที่ตัวเองเป็น รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี ซี่งหากพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคไทรอยด์ชนิดใดก็ตาม เช่น มีก้อนเนื้องอกที่คอ คอโตจนมีคนทัก มีภาวะเหนื่อยง่าย ใจสั่น คอโต ตาโปน ไม่มีแรง มีอาการอึดอัดคอ กลืนติด หรือหายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา เพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว นำมาซี่งผลการรักษาที่ดีในระยะยาวต่อไป

ความผิดปกติของไทรอยด์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้คือ 1.ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ, 2.ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์” และ 3.โรคเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ซึ่งผลการตรวจเลือดจะพบว่าปกติ แต่มีก้อนเนื้องอกซ่อนอยู่ในต่อมไทรอยด์ โดยแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับการรักษาโรคฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติไม่ว่าจะฮอร์โมนสูงเกิน หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ตามปกติเราจะเริ่มรักษาด้วยยาก่อน แต่ถ้าการรักษาด้วยยามีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนอง หรือคนไข้มีภาวะแพ้ยา ทานยาไม่ได้ การกลืนแร่ไอโอดีนในคนไข้ไทรอยด์เป็นพิษก็จะเป็นคำตอบ แต่คนไข้ในบางกรณี ก็ไม่สามารถที่จะรักษาด้วยการทานยา หรือกลืนแร่ได้ เพราะฉะนั้นคนไข้บางรายจึงจำเป็นจะต้องอาศัยการผ่าตัดรักษา เช่น คนไข้โรคไทรอยด์เป็นพิษที่มีต่อมขนาดใหญ่มาก ไม่ตอบสนองต่อยา ตาโปนรุนแรง ก้อนไทรอยด์ใหญ่กดเบียดหลอดอาหารและหลอดลม หรือ คนไข้ที่เป็นโรคไทรอยด์ต่ำ แต่ว่ามีภาวะคอโต และมีก้อนสงสัยมะเร็งแอบซ่อนอยู่ในต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

สำหรับการผ่าตัดรักษาโรคไทรอยด์ ถือว่าเป็นอีกหนี่งวิธีการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพสูง เช่นกรณีที่คนไข้เป็นไทรอยด์เป็นพิษ การผ่าตัดโดยการตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด ถือว่าคนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ถึง 99% หรือภาวะมะเร็งไทรอยด์ การผ่าตัดรักษาก็จะเป็นการกำจัดโรค และยังป้องกันภาวะมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆอีกด้วย

ปัจจุบันการผ่าตัดไทรอยด์ แบ่งออกได้เป็นสองประเภท ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด (open thyroidectomy) และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (endoscopic thyroidectomy) กล่าวคือ สำหรับการผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด เป็นการผ่าตัดที่สามารถผ่าโรคไทรอยด์ได้ทุกชนิด โดยไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องขนาด ว่าจะใหญ่แค่ไหน และยังสามารถผ่าตัดในคนไข้ที่มีภาวะต่อมน้ำเหลืองแพร่กระจายไปที่คอแล้วอีกด้วย แต่ว่าข้อเสียเพียงอย่างเดียวของการผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด คือ คนไข้จะมีแผลเป็นที่บริเวณกลางลำคอ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไทรอยด์ ส่วนมากเป็นผู้หญิง และการที่คนไข้มีแผลผ่าตัดที่กลางคอ อาจจะทำให้คนไข้มีความไม่มั่นใจ ในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะรักษาแผลเป็นให้ดี อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแผลอยู่ดี เพราะฉะนั้นการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง จึงเป็นเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้คนไข้ไม่มีแผลเป็นที่กลางคอ โดยการที่เปลี่ยนแผลผ่าตัดจากบริเวณหน้าคอ ไปยังบริเวณลานเต้านม หลังหู รักแร้ หรือวิธีใหม่ที่สุด คือ ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ที่ไม่มีแผลเป็นภายนอกเลย ช่วยสร้างความมั่นใจในการผ่าตัดไทรอยด์ให้คนไข้ในปัจจุบัน

การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางรักแร้ เป็นวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่มีการซ่อนแผลผ่าตัดไว้บริเวณรักแร้ และมีการใช้กรรไกรที่ใช้คลื่นเสียงที่สามารถห้ามเลือดไปในตัวได้ ทำให้การผ่าตัดเป็นได้อย่างราบรื่น คนไข้เสียเลือดน้อย การบาดเจ็บที่เนื้อเยื่อน้อย ทำให้เจ็บแผลน้อยมากและผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว คนไข้จะสามารถซ่อนรอยแผลผ่าตัดไว้ใต้รักแร้ ทำให้คนอื่น ไม่เห็นแผลผ่าตัด

การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก เป็นการผ่าตัดไทรอยด์ แบบส่องกล้อง วิธีใหม่ล่าสุด โดยถูกพัฒนามาเพื่อให้คนไข้ไม่มีแผลเป็นที่กลางคอ รวมถึงไม่มีแผลภายนอก ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องระวังแผลภายนอกโดนน้ำ ซึ่งการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ

1.ไม่มีรอยแผลบริเวณกลางลำคอ ทำให้บริเวณคอแทบจะดูไม่ออกว่าไปผ่าตัดมา ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน

2.แผลถูกซ่อนไว้ในช่องปาก ทำให้คนไข้ไม่มีแผลภายนอก คนไข้จะสามารถอาบน้ำ หรือทำกิจกรรมของชีวิตประจำวันต่าง ๆได้ทันที ไม่ต้องระวังแผลภายนอกโดนน้ำ

3.เย็บซ่อนแผลด้วยไหมละลายไว้ในช่องปาก ไม่ต้องทำแผล

4.แผลมีขนาดเล็ก โดยแผลขนาดใหญ่ที่สุดคือ 1 เซนติเมตร ซึ่งการที่คนไข้มีแผลเล็ก ทำให้เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว ไปทำงานได้ไว

5.เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย เสียเลือดน้อยมาก ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องลาหยุดงานนาน

6.ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่มีความแม่นยำ ช่วยในการขยายขนาดของอวัยวะต่าง ๆเช่น ต่อมพาราไทรอยด์ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นต่อมพาราไทรอยด์ และพยายามในการผ่าตัดเก็บรักษาไว้ ทำให้คนไข้ไม่ต้องทานแคลเซียมหลังผ่าตัดปริมาณมาก รวมถึงกล้องยังช่วยขยายขนาดของเส้นประสาทเสียง ช่วยทำให้แพทย์ผ่าตัดสามารถหาเส้นเสียงได้ง่าย และชัดเจน ส่งผลให้ ลดโอกาสการเกิดภาวะเสียงแหบหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่คนไข้ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ และมีความกังวลสูงก่อนการเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เพราะคนไข้ทุกคนจำเป็นต้องใช้เสียงในการติดต่อสื่อสาร และทำงานนั่นเอง

สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ต้องยอมรับตามจริงว่า ไม่สามารถที่จะผ่าตัดในคนไข้ไทรอยด์ได้ทุกสภาวะเหมือนกับการผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด ซึ่งการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติดังนี้

1.ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์ไม่เป็นพิษ และโรคมะเร็งไทรอยด์ ที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป (จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดประเมินสภาวะไทรอยด์ก่อน ว่าสามารถทำการผ่าตัดแบบส่องกล้องได้หรือไม่) โดยคร่าวๆผู้ป่วยมีขนาดไทรอยด์ที่จะผ่า ใหญ่ไม่เกิน  8 เซนติเมตร

2.ผู้ป่วยไม่ต้องการให้มีแผลเป็นภายนอก และต้องการฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อย และกลับไปทำงานได้เร็ว สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันทีหลังผ่าตัด

3.ผู้ป่วยที่ต้องการรับการผ่าตัด กับแพทย์เฉพาะทางที่จบด้านการผ่าตัดไทรอยด์โดยเฉพาะ มีความชำนาญสูง ทำให้ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนทุกด้าน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านไทรอยด์ เพื่อให้การผ่าตัดออกมาได้ประสิทธิภาพสูงสุด

วิธีการตรวจเช็คคัดกรองโรคเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การป้องกันหรือรักษาความเจ็บป่วยได้แต่เนิ่น ๆ และทำให้ประหยัดค่ารักษาในระยะยาว สามารถทำได้หลายช่องทาง ดังนี้

(1) ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด (thyroid function test)

(2) ตรวจคัดกรองและอัลตร้าซาวด์บริเวณคอและต่อมไทรอยด์ (ultrasound)

(3) ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (thyroid scan) หากสงสัยว่ามีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยใช้สารรังสี อาจให้ดื่มหรือฉีดทางเส้นเลือดดำ เพื่อดูปริมาณสารรังสีที่เซลล์ของต่อมไทรอยด์จับไว้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากภาพของต่อไทรอยด์ที่เครื่องสแกนได้

(4) หรือสามารถประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเองง่ายๆ (self-physical examination) โดยการกลืนน้ำลายที่หน้ากระจก สังเกตดูว่ามีก้อนเคลื่อนที่ตามการกลืนหรือไม่ ถ้าพบควรรีบปรึกษาแพทย์

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัวอยู่ในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และมักจะพบว่าคนไข้เพิ่งทราบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จากการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยการเจาะเลือด และการทำอัลตร้าซาวด์คอ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ไม่อาจมองข้าม และควรทำการรักษาทันทีอย่ารอจนทุกอย่างสายเกินแก้

……………………

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ไทรอยด์และผ่าตัดไทรอยด์แบบครบวงจร โรงพยาบาลพระรามเก้า

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img