วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกHighlightAppropriate Technology : ฮีโร่ที่ยังไม่ได้ออกโรงในยุคโควิด-19
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Appropriate Technology : ฮีโร่ที่ยังไม่ได้ออกโรงในยุคโควิด-19

ความรุนแรงของการระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดประเทศไทยได้พบกับยอดผู้ติดเชื้อสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ (ผู้ติดเชื้อใหม่ 9,535 คน ในวันที่ 17 พ.ค. 2564) ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ในขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเกินหนึ่งแสนรายแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหากเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อเมื่อปี 2563 ซึ่งการระบาดในครั้งนี้ ได้เกิดจากการแพร่ระบาดใน “คลัสเตอร์ใหม่ๆ” เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เช่น คลัสเตอร์คลองเตย ชุมชนแฟลตดินแดง ตลาดห้วยขวาง ประตูน้ำ ปากคลองตลาด คลัสเตอร์โรงงาน รวมไปถึงเรือนจำด้วย

บทความนี้คณะผู้เขียน มีความตั้งใจที่จะนำเสนอ หนึ่งวิธีที่อาจจะช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้ถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายนัก แต่มีโอกาสที่จะลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือ การระบาดของเชื้อโรคชนิดใหม่ๆได้อย่างยั่งยืน ซึ่งวิธีนั้นก็คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ในการเว้นระยะห่างทางสังคมในการประกอบอาชีพ ทางคณะผู้เขียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในโครงการศึกษาและค้นหาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพที่เว้นระยะห่างทางสังคมได้ยาก สามารถประยุกต์ใช้และเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างเร่งด่วนและเหมาะสม  

เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) คืออะไร 

เทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือ Appropriate Technology คือแนวคิดในการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี “ที่เหมาะสม” ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จสูง คำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือ Appropriate Technology เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่มีชื่อว่า แอ็นสท์ ฟรีดริช ชูมัคเคอร์ (Ernst Friedrich Schumacher) โดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุด ซึ่งมักจะมีราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก แต่เป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการประยุกต์ใช้ในสภาวะสังคมปัจจุบัน และมีโอกาสสูงในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้จริง โดยทั่วไปเทคโนโลยีที่เหมาะสมมักจะถูกพูดถึงสำหรับการพัฒนาสังคมชนบทของประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา อย่างไรก็ตามคณะผู้เขียนได้ประยุกต์ใช้หลักการนี้กับวิกฤตโควิด-19 ในการค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพร้อมที่จะแก้ปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 ได้จริง 

เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) กับการช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19

ผู้ประกอบอาชีพบางอาชีพ มีลักษณะการทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับผู้อื่นอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ พนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานแคชเชียร์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด หรือแม้แต่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในบทความนี้ คณะผู้เขียนจะนำเสนอ 3 กลุ่มเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพบางอาชีพที่เว้นระยะห่างทางสังคมได้ยากสามารถประยุกต์ใช้และเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างเร่งด่วน

1.เทคโนโลยีตรวจจับอัจฉริยะ Smart Sensors 

เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดตัวแรกคือเทคโนโลยี Smart Sensors ซึ่งคือเทคโนโลยีที่ตรวจวัดข้อมูลของสภาพแวดล้อมทางกายภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น การตรวจวัดการเคลื่อนไหว การวัดระดับอุณหภูมิ หรือ การตรวจวัดความผิดปกติจากข้อมูลภาพและเสียงจากกล้องวงจรปิด สำหรับการใช้เทคโนโลยี Smart Sensors ในการลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้ร่วมกับกล้องวงจรปิดที่มีอยู่แพร่หลายและราคาไม่แพงมาก (ซึ่งจะทำให้กลายเป็น Smart Camera) เพื่อตรวจวัดความผิดปกติจากข้อมูลภาพและเสียงที่ถูกตั้งไว้ล่วงหน้า เช่น การตรวจวัดการละเมิดไม่ใส่หน้ากากอนามัยในที่ทำงาน การไม่เว้นระยะห่างระหว่างการสนทนา หรือ การมีจำนวนคนในห้องมากเกินกว่าจำนวนที่กำหนด โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ มีราคาถูกลงมาก นอกจากนี้การตรวจวัดยังสามารถทำได้แบบเรียลไทม์ (real-time) ซึ่งจะสามารถใช้ในการแจ้งเตือนและปรับพฤติกรรมได้ทันที แทนที่จะมีไว้เพื่อ “จับผิด” เพียงอย่างเดียว

อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังเป็นที่น่าจับตามองคือ เทคโนโลยี biosensor หรือ เทคโนโลยีการตรวจวัดทางชีวภาพ เช่นการตรวจวัดอุณหภูมิ หรือแม้แต่ระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้สามารถนำมาตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ประกอบอาชีพแบบเรียลไทม์ (real-time) ผ่านการเชื่อมต่อกับสมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) แทนการวัดก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนสูง (เช่นเดินตากแดดมาเลยทำให้อุณหภูมิร่างกายสูง หรือเพิ่งล้างมือด้วยน้ำเย็นมาเลยทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำ) ซึ่งจะสามารถช่วยในการระบุบุคคลที่มีความเสี่ยง (เช่น อุณหภูมิร่างกายสูง) เพื่อแยกตัวออกจากผู้อื่นและเริ่มต้นกระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที

สุดท้ายนี้หากจำเป็นจะต้องบันทึกข้อมูลจาก Smart Sensors เพื่อการลงโทษซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบอาชีพตระหนักว่า “ถูกจับตามอง” อยู่ตลอดเวลาและสามารถเพิ่มความเข้มขันในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ก็สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยทำให้ข้อมูลที่บันทึกนั้นมีความถูกต้องและไม่สามารถ “แอบ” ไปแก้ไขที่หลังได้ 

2.เทคโนโลยีการใช้จ่ายไร้เงินสด (Cashless Payment Technology) 

เทคโนโลยีตัวต่อมาคือเทคโนโลยีการใช้จ่ายไร้เงินสด (Cashless Payment Technology) เป็นที่ทราบกันดีว่าธนบัตรหรือเหรียญต่างๆเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ด้วย โดยทางองค์การอนามัยโลกก็ได้มีการออกมาแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้ธนบัตรหรือเหรียญในขณะที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย ดังนั้นการใช้จ่ายไร้เงินสดจะสามารถช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ คนในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่นิยมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด แม้ว่าจะมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือความคุ้นเคยในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆในโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็ปไซด์ “We Are Social” ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและบริการด้าน Digital Marketing ชั้นนำของโลก พบว่าร้อยละ 98 ของประชากรไทยมีสมาร์ทโฟน แต่มีเพียงร้อยละ 18.7 ของประชากรเท่านั้น ที่เลือกใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในขณะที่ประเทศจีนมีประชากรมากกว่าร้อยละ 48 ที่เลือกใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ ทั้งที่ประชากรไทยใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันในการเล่นอินเตอร์เน็ตมากกว่าประชากรจีนถึงวันละ 2 ชั่วโมง ดังนั้นปัญหาที่สำคัญคือการศึกษาว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่ใช้เทคโนโลยีการใช้จ่ายไร้เงินสด และก้าวข้ามอุปสรรคนี้อย่างจริงจัง 

3.เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Smart Robotics)

เทคโนโลยีตัวสุดท้ายคือเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีการพัฒนาไปมาก โดยหุ่นยนต์มีความสามารถที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ (หรือเก่งกว่ามนุษย์ในหลายๆด้าน) เช่น สามารถเคลื่อนไหวได้เองด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และสามารถทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนได้ (เช่นการผ่าตัด หรือการไขสกรู) ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะสามารถช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้โดยการลดการสัมผัสของผู้ประกอบอาชีพในการส่งต่อสิ่งของ อุปกรณ์ หรือวัตถุดิบระหว่างการปฏิบัติงาน หรือแม้แต่การส่งต่อสินค้าให้กับผู้บริโภค (เช่น การส่งอาหาร)

ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศคือ ที่ประเทศจีนมีร้านอาหารหุ่นยนต์ (Robot Restaurant Complex) อย่างเต็มรูปแบบโดยมีการใช้หุ่นยนต์มากกว่า 40 ตัวในหนึ่งร้านและคาดหวังที่จะผลิตหุ่นยนต์ตัวนี้ไว้ถึงปีละ 5,000 ตัว ในประเทศไทยเองก็มีการเริ่มใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะในการส่งอาหารเช่น ร้านอาหาร Sizzler ที่มีหุ่นยนต์ที่สามารถทำหน้าที่แทนพนักงานได้ตั้งแต่การรับรายการอาหาร พาลูกค้าไปที่โต๊ะอาหาร รวมถึงเสิร์ฟอาหารและเก็บจานได้ หรือแม้แต่การดัดแปลงรถบังคับให้สามารถส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือสิ่งของอื่นๆให้กับผู้ป่วยโควิด-19 แต่น่าเสียได้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งหากพิจารณาจริงๆ ก็จะพบว่าพื้นฐานของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ส่งของเหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย 

เมื่อไหร่เทคโนโลยีเหล่านี้จะ “ออกโรง” 

ในฐานะที่คณะผู้เขียนได้เคยมีประสบการณ์ฝึกอบรมให้กับพนักงานในองค์กรชั้นนำหรือข้าราชการในระดับต่างๆ ในด้านการพัฒนาองค์กรในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (Disruption Era) มาค่อนข้างมาก ประเด็นที่สำคัญที่คณะผู้เขียนพบว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับตัวในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคือ การติด “กับดักทางความคิด” คนเราโดยธรรมชาติไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หรือ อยากอยู่ใน “Comfort Zone” โดยหลายครั้ง เรามักจะสร้างความคิดที่ทำเราเชื่อว่าเรายังสามารถอยู่ใน “โลกใบเก่า”

ในกรณีของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความคิดหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเป็นการสร้างความคิดว่าเรายังสามารถอยู่ใน “โลกใบเก่า” ได้ คือความคิดที่ว่า “อีกไม่นาน” การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็จะหายไปแล้วเราก็จะกลับไปอยู่ใน “โลกใบเก่า” ที่การใส่หน้ากากอนามัยไม่เคยมีความจำเป็น

แต่ถ้าลองดูจากข้อมูลต่างๆอย่าง “ไร้อคติ” เราก็จะพบว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมหรือการใส่หน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็นแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว ไวรัสโควิด-19 มีโอกาสกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆซึ่งทำให้การระบาดอาจเกิดระรอกใหม่ได้ หรือหากมีบางประเทศในโลก (ที่ไม่ใช่ประเทศไทย) ที่ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ มาตรการเฝ้าระวังต่างๆก็คงยังมีความจำเป็นอยู่

ดังนั้นการยอมรับโดยสมบูรณ์ว่าเราต้องอยู่ใน “โลกใบใหม่” หรือ การใช้ชีวิตแบบ “New Normal” ที่เราได้ยินอย่างคุ้นหูนั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “จริงๆ” ก็จะเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้หลายๆคนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองและองค์กรอย่างยั่งยืน 

……………………………………….

บทความนี้เขียนโดย ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน, ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส, ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ, ผศ.ดร.สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ที่มา 

หนังสือ “The Singularity Is Near: When Humans Transcend Biology” (2005) โดย Ray Kurzweil  

บทความ “Welcome to China’s latest ‘robot restaurant’” (2020) โดย Kenrick Devis สืบค้นเมื่อ16 พฤษภาคม 2564 จาก World Economic Forum 

รายงานข้อมูล “DIGITAL 2021: THAILAND” (2021) โดย Simon Kemp สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564 จาก We Are Social 

รายงานข้อมูล “DIGITAL 2021: CHINA” (2021) สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564 จาก We Are Social 

รายงาน “Sizzler เตรียมใช้หุ่นยนต์น้องสไปซี่ เสิร์ฟอาหารได้ เก็บจานได้ เหมือนมีพนักงาน 1 คน” (2020) โดย Pran Suwannatat สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2564 จาก brandinside.asia 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img