วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกHighlightเปิดโลกการเรียนรู้ กับ 5 เคล็ดลับง่ายๆ ฉบับ“นักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดโลกการเรียนรู้ กับ 5 เคล็ดลับง่ายๆ ฉบับ“นักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย”

หากจะบอกว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราก็คงไม่ผิดนัก ไม่ว่าจะในบ้าน ธรรมชาติที่รายล้อม หรือแม้กระทั่งภายในร่างกายเราเอง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราควรฝึกฝนให้เด็กๆ ‘มีความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์’ (Science literacy) เพราะวิทยาศาสตร์เป็นมากกว่าแค่วิชาที่สอนในโรงเรียน แต่ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของเด็กในหลายๆ ด้าน ผลการศึกษาของนักวิจัยจากประเทศอินโดนีเซียที่ศึกษาวิจัยนักเรียนชั้นประถมศึกษา 120 คน พบว่า การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM) ช่วยสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2563 ยังสรุปด้วยว่า การเรียนรู้ด้านสะเต็ม จะช่วยให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายของยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ดีขึ้น แล้วยังช่วยให้เกิดการความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย

จากผลการสำรวจการรับรู้และเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกประจำปี 2564 ของ “3เอ็ม” ดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ของ 3เอ็ม (State of Science Index – SOSI) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านสะเต็มมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 91 เห็นตรงกันว่า โลกเราต้องการคนที่ทำงานสาขาด้านสะเต็ม มากกว่านี้ ร้อยละ 73 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นด้วยว่า เด็กรุ่นใหม่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด

รู้แบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงอยากจุดประกายความเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้บุตรหลานขึ้นมาบ้าง วันนี้เราเลยรวบรวม 5 เทคนิคง่ายๆ และเต็มไปด้วยความสนุก ที่จะช่วยให้คุณปลุกความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ อย่างได้ผล จะมีวิธีไหนบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!

1.ลองฟังคำถามของเด็กๆ แล้วหาคำตอบไปด้วยกัน เมื่อเจ้าตัวน้อยถามคำถาม ลองใช้เวลาอธิบายคำตอบและที่มาที่ไปให้เขาฟัง หากคุณไม่แน่ใจในคำตอบ ให้ใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ค้นหาคำตอบร่วมกับลูกๆ หรือจะชวนกันไปห้องสมุดหรืออ่านบทความออนไลน์ก็ได้ทั้งนั้น

ในยุคอินเทอร์เน็ตที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างง่ายดาย สิ่งสำคัญคือเราต้องแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้องให้ออก ควรอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเสมอและตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเว็บไซต์ออนไลน์ เช่น Google’s Fact Check Tools และ FactCheck.org เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้กำลังอ่านข่าวปลอม

ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถถามคำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และช่วยให้ลูกค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกัน โดยงานวิจัยเมื่อปี 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเล่นฟันเฟืองของเด็กอายุ 4-6 ขวบพบว่า ผู้ปกครองที่คอยกระตุ้นให้เด็กอธิบายกลไกของฟันเฟืองจะช่วยให้พวกเขาได้ถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับกลไกนี้ได้ลึกซึ้งขึ้น

แทนที่จะอายหรือหลบเลี่ยงเมื่อลูกถามคำถาม ลองใช้โอกาสนี้เพื่อสำรวจโลกวิทยาศาสตร์ไปด้วยกัน และสอนให้พวกเขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญของการวิจัยและการค้นพบสิ่งใหม่

2.ออกไปใช้เวลาสนุกๆ ท่ามกลางธรรมชาติ อะไรจะดีไปกว่าการค้นหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ว่า “มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไม” ด้วยการออกไปสำรวจธรรมชาติ ลองพาเด็กๆ ออกไปเที่ยวในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหรือสวนสัตว์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติให้มากขึ้น

3.เล่นเกมวิทยาศาสตร์ การเล่นมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด รายงานที่ตีพิมพ์โดย American Academy of Pediatrics แสดงให้เห็นว่าการเล่นช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคม อารมณ์ สติปัญญา ภาษา และการดูแลจัดการตนเอง ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานและการพัฒนาสมองที่สำคัญของเด็กๆ

สอนลูกๆ ว่าแรงต้านทานทำงานอย่างไรด้วยการเล่นเกมชักเย่อ หรือหากคุณอยากเล่นเกมวิทยาศาสตร์ออนไลน์มากกว่า ลองใช้ Code ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมให้คนเข้าถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์มากขึ้น สามารถแนะนำและสอนเรื่องวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้ลูกของคุณได้ในวิธีที่สนุกและเข้าใจง่าย เช่น บทเรียนเกี่ยวกับ Angry Birds และ Minecraft

4.ทำของเล่น DIY แม้ว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือชั้นยอดสำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ แต่เราเองก็สามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้โดยพักจากจอดิจิทัลเสียบ้าง ชวนลูกๆ มาทำของเล่นของตัวเองด้วยการประดิษฐ์จากสิ่งของรอบตัว

จากแบบสำรวจความคิดเห็นของ Gallup ที่ทำการสอบถามครูกว่า 1,036 คน ผู้ปกครอง 2,673 คน และนักเรียน 853 คน พบว่า การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในการศึกษาคือหัวใจสำคัญ การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ระหว่างการเรียนรู้จะช่วยเพิ่มทักษะการแก้ปัญหาและทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนได้ นอกจากจะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้นแล้ว นักเรียนยังสามารถเชื่อมโยงวิชาต่างๆ ได้ดีขึ้น มีความเข้าใจในวิชาต่างๆ ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสอบได้คะแนนโดยรวมที่ดีขึ้น

5.ลองทำกิจกรรมที่ได้ใช้ “มือทำ” ให้มากขึ้น ใช้ประโยชน์จากความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่รู้จบของลูกๆ และให้พวกเขาได้ใช้มือสร้างสรรค์อะไรสนุกๆ และเลอะเทอะดูบ้าง

หากคุณอยากได้ไอเดียเพิ่มเติม ลองทำการทดลองที่บ้านง่ายๆ จากเว็บไซต์ Science At Home ของ 3เอ็ม ที่จะช่วยให้คุณค้นพบว่าสิ่งของในครัวเรือนทั่วไปสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ทั้งสนุกและให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างจรวดกระดาษ หรือเรียนรู้วิธีสร้างเอฟเฟกต์ดอกไม้ไฟสุดเจ๋ง!

ไม่น่าเชื่อว่าการส่งเสริมและกระตุ้นให้ลูกของเราได้เรียนรู้และรักวิทยาศาสตร์ จะเป็นเรื่องที่ง่าย สนุกสนาน และคุ้มค่าขนาดนี้ ด้วยเคล็ดลับดี ๆ 5 ข้อนี้ หวังว่าคุณจะได้แรงบันดาลใจในการฝึกฝนนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของเด็กทุกคน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img