วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง8ผู้ต้องหาคดีตากใบ ร่วมฆ่า78ศพก่อนหมดอายุความ25ต.ค.นี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง8ผู้ต้องหาคดีตากใบ ร่วมฆ่า78ศพก่อนหมดอายุความ25ต.ค.นี้

อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง ‘คดีตากใบ’ 8 ผู้ควบคุมรถบรรทุก-พลขับ ขนย้ายผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เร่งตำรวจตามตัวแจ้งข้อหาให้ทันสั่งฟ้อง 25 ตุลาคมนี้ ก่อนคดีหมดอายุความ

วันที่ 18 ก.ย.67 งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า คดีนี้ อัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ของศาลจังหวัดสงขลา จาก พลตำรวจโท อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ซึ่งทั้งสองคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมตัวนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา ที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้าน ไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์

ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ได้มีประชาชนเป็นกลุ่มมวลชนประมาณ 300 – 400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเวลา 13 นาฬิกา พลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งพื้นที่อำเภอตากใบในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาของผู้ต้องหาทั้ง 6 มาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไขเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที พร้อมทั้งโห่ร้องขับไล่ยั่วยุเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์วุ่นวายได้เพิ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พลตรี เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรม (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณ 16 นาฬิกา เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40 – 50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19 นาฬิกา นำผู้ชุมนุมทั้งหมด ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21 นาฬิกา

เมื่อนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตาย ทั้งหมด 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 8 เป็นพลขับ โดยมีผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้งสองคดีมีรายละเอียด ดังนี้

1. สำนวนวิสามัญฆาตกรรมมีพันตำรวจเอก พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหา มีผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย พลเอก เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ร้อยตรี ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2 นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3 เรือโท วิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4 นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5 พันจ่าตรี รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6 พันโท ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 ร้อยโท ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 คดีดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่

2. สำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน ต่อมาในระหว่างไต่สวน ได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ และในปี 2548 พนักงานอัยการได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาลพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย

3. หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา จากพลตำรวจโท อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ส่งผลสอบสวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุด ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567

ต่อมา วันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดโดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้งแปด (พลเอก เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ร้อยตรี ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2 นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3 เรือโท วิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4 นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5 พันจ่าตรี รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6 พันโท ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 ร้อยโท ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหา 8 จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปด ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว

เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 8 มารับข้อกล่าวหาตามข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดได้แจ้งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร. เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งแปด พร้อมแจ้งสิทธิและพฤติการณ์แห่งคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 134 และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img