วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกNEWSคมนาคมยันไม่ทุบ-ไม่ปิดหัวลำโพง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คมนาคมยันไม่ทุบ-ไม่ปิดหัวลำโพง

คมนาคมเปิดระดมความคิดเห็นอนาคตสถานีหัวลำโพงฟังเสียงทุกฝ่ายก่อนชี้ขาด ยันไม่ทุบ-ไม่ปิด ด้านประภัสร์ติงผู้ว่ารฟท.หากทำความเข้าใจประชาชนตั้งแต่แรกก็ไม่มีปัญหาวันนี้   ขณะที่รสนาหวั่นหยุดเดินรถหัวเมืองคนเดินทางลำบากกระทบธุรกิจเกี่ยวข้องทั้งสามล้อ-แท็กซี่-ร้านค้าโดยรอบ

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคม นาคม  เปิดเผยในเวทีรับฟังความคิดเห็น “อนาคตสถานีหัว ลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” ว่า  กระทรวงคมนาคมไม่เคยมีแนวคิดปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่เป็นการปรับลดบทบาทลงมาเพื่อบริหารจัดการการเดินรถให้ดีขึ้น เนื่องจากสถานีหัวลำโพงเป็นสถานีปลายทางที่มีการเดินรถเข้า-ออกทางเดียว ไม่สะดวก ขนาดที่ตั้งก็ไม่สามารถรองรับการพัฒนาและการเชื่อมต่อได้ จึงเห็นควรเหลือเพียงการเดินรถไฟชานเมืองเท่านั้น

ทั้งนี้รัฐได้ใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งรถไฟ  รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว และในอนาคตเชื่อมต่อ แอร์พอร์ต เรล ลิ้ง   รวมถึงรถเมล์หลายสายที่ปรับเส้นทางให้มาเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายคมนาคม ดังนั้น รถไฟทางไกลจึงต้องเปลี่ยนมาใช้บางซื่อแทนหัวลำโพง

ส่วนหนี้ รฟท.ปัจจุบันมีอยู่ 2 แสนล้านบาท แต่มีหนี้ผูกพันทางสัญญา 4 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นคราราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมหนี้สินใกล้ 6 แสนล้านบาท

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า  ไม่มีการทุบ การปิดหัวลำโพง แต่ที่ลดบทบาท เนื่องจากโครงการรถไฟสายสีแดงถูกออกแบบตามแผนแม่บทกว่า 20 ปี เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นาน โดยรูปแบบการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงเป็นยกระดับรถไฟ เพื่อแก้ไขปัญหาลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด 27 จุด

ซึ่งทั่วโลกไม่มีทางรถไฟที่มีจุดตัดรถไฟภายในใจกลางเมือง หลังจากก่อสร้างรถไฟสายสีแดงแล้วควรยกเลิกการใช้ไม่กั้น แต่ทางกระทรวงคมนาคมได้รับฟังภาคประชาชนควรมีไม้กั้นเพื่อให้บริการรถไฟชานเมืองบางเส้นทางที่เข้าสถานีหัวลำโพง ปัจจุบันมีการลดจุดตัดรถไฟแล้วอยู่ที่ 86% เหลือ 14 %

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง 118 ขบวนต่อวัน ปัจจุบันจะมีการปรับขบวนรถไฟเหลือ 22 ขบวนต่อวัน เริ่ม 23 ธันวาคมนี้ เนื่อง จากพบว่าประชาชนที่ต้องใช้บริการรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพง 7,000 คน/วัน คิดเป็น 0.018% ของการเดินทางภายในกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่บางส่วนจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการจำหน่ายสินค้าโอทอป 

นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล  คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 โดยมี รฟท.ถือหุ้น 100% มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่บริหารที่ดินของ รฟท.ที่ไม่ใช่ทางรถไฟเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และประโยชน์กับสาธารณชน โดยพื้นที่รฟท.ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รอบสถานี ทุกสถานี เราจะพัฒนาในรูปแบบ TOD จะมีหลักการเน้นพื้นที่สีเขียว มีโครงสร้างพื้นลาน  พร้อมพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ไม่ใช้เครื่องยนต์ แต่จะใช้พลังงานสะอาด และเป็นจุดเชื่อมโยง เพื่อนำรายได้มาฟื้นฟูการรถไฟฯ

ขณะที่สถานีหัวลำโพงจะลดบทบาทการเดินรถระยะทางไกล ซึ่งหากไม่ได้พัฒนาในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน พื้นที่รถร้างอาจถูกบุกรุกได้ จึงต้องอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้มีคุณค่าและเพิ่มพูนมูลค่าด้วยการใช้พื้นที่กว่า 120 ไร่รอบสถานีเกิดประโยชน์ ทั้งการปรับปรุงอาคาร สถานีกรุงเทพ ไม่มีการทุบหรือรื้อถอนเด็ดขาด เพราะเป็นมรดกของชาติ  โดยจะผสมผสานพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่พ่วงราง และจัดสรรพื้นที่บางส่วน

“ไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพง แนวทางในการบริหารพื้นที่ 120 ไร่ จะเป็นรูปแบบ TOD แต่ความพิเศษพื้นที่หัวลำโพงกว่าพื้นที่อื่น เพราะเป็นที่ดินประวัติศาสตร์ที่ ร.5 ให้เป็นสมบัติแห่งชาติ”

ทั้งนี้ พื้นที่ 5 จุดที่จะไม่มีการพัฒนา ได้แก่ อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร จุดกม.ที่ 0, ตัวสถานีหัวลำโพง เป็นสถาปัตยกรรม ที่มีอายุ 105 ปี, อนุสรณ์ปฐมฤกษ์ อยู่ติดกับรางรถไฟ,  ตึกบัญชาการของการรถไฟ และ ตึกแดง โดยทั้ง 5 แห่งถือเป็นสมบัติแผ่นดินที่มีค่า เราต้องอนุรักษ์ ซ่อมแซมให้คงสภาพอยู่ดี และดำเนินการให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า วันนี้มีความสับสนเรื่องการปิดสถานีหัวลำโพง หากผู้ว่า รฟท.มาชี้แจงให้ชัดเจนก็ไม่ต้องมีวันนี้ โดยเห็นว่าต้องมีการเชื่อมต่อจากสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพงก่อนจะลดการเดินรถในสถานีหัวลำโพง และไม่เห็นด้วยที่จะหยุดเดินรถสายระยะไกลเข้าหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าเมืองอีก ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย เป็นภาระกับประชาชน

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สถานีหัวลำโพงเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปของ ร.5 และได้สร้างรถไฟจุดแรก คือ กรุงเทพ -นครราชสีมา ต่อมาให้กะทรวงคมนาคมรับโอนกิจการกรมรถไฟเพื่อนำมาดำเนินการเพื่อกิจการรถไฟ

การที่ ร.5 มอบพื้นที่จำนวนมากเพื่ออำนวยประโยชน์กับประชาชาชนเพื่อสนับสนุนการขนส่งระบบราง หรือรถไฟ แต่เท่าที่ฟัง เรากำลังเลิกหรือลดบทบาทของหัวลำโพง คิดว่ารถไฟต้องทำเรื่องการเดินรถเป็นหลัก ส่วนการทำอย่างอื่น เช่น การนำสถานีหัวลำโพงที่มีอายุ 105 ปีและเป็นสมบัติของชาติในเชิงสถาปัตย์ อาคาร การก่อสร้าง ถือเป็นอุตสาหกรรมศิลป์แรกของไทย ดังนั้น การนำไปให้นายทุนเข้ามาทำถือเป็นขายสมบัติของชาติ

สำหรับการขาดทุนของ รฟท.เนื่องจากมีผู้โดยสารลดลง โดยปี 52 มีผลขาดทุน 9,155 ล้านบาท ปี 62 ขาดทุน 17,212 ล้านบาท หากดูเรื่องการแข่งขันเชิงธุรกิจ การเดินรถไฟยังมีข้อได้เปรียบมาก เพราะการเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองสะดวกกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน ดังนั้น รฟท.ต้องปรับปรุงตัวเอง มีการพัฒนาคุณภาพ จึงจะแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม หากมีการหยุดเดินรถจากหัวเมืองเข้ามายังหัวลำโพงก็จะทำให้ประชาชนลำบากขึ้นและกระทบส่วนที่เกี่ยวเนื่อง เช่น รถแท็กซี่ สามล้อ รวมถึงการค้าขายรอบหัวลำโพง ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วย และคัดค้านการหยุดขายตั๋วจากหัวเมืองมาหัวลำโพง

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลดบทบาทรถเข้าหัวลำโพง เพราะต้นตอปัญหาจริงๆ คือ Missing Link บางซื่อ-หัวลำโพงไม่แล้วเสร็จ เป็นเพราะรัฐบาลจัดการไม่ดีทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ ฉะนั้นการลดบทบาทเป็นการประนีประนอมที่จะปิดสถานีหัวลำโพง

แต่การที่ Missing Link ไม่เกิดขึ้นเพราะมีโครงการอื่นเข้ามาแทรก มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ควรเกิดทีหลังหรือไม่ควรเกิดด้วยซ้ำ และเห็นว่าควรนำพื้นที่มักกะสันมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะจะสวยกว่าหัวลำโพงอีก

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์  อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าการพัฒนาระบบรางเพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร เชื่อว่าเมื่อโครงการ Missing Link เสร็จสิ้น  จะต้องมีการกำหนดราคาค่าโดยสารที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการได้ด้วย

 ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นหลังการเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนา ขอให้กระทรวงความนาคมชะลอการปรับลดขบวนรถเข้าหัวลำโพงจากวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบ 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img