วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกHighlight“ไทย”ตั้งเป้าอยู่ 1 ใน 30 ประเทศนวัตกรรมโลก ในปี 2573  
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ไทย”ตั้งเป้าอยู่ 1 ใน 30 ประเทศนวัตกรรมโลก ในปี 2573  

รัฐบาลตั้งเป้าไทยอยู่ 1 ใน 30 ประเทศนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 ปัจจัยสำคัญหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2565 (Global Innovation Index 2022 : GII 2022) ประเทศไทยยังครองอันดับที่ 43 ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน จาก 132 ประเทศทั่วโลก โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน มีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อน เพื่อเร่งผลักดันให้ไทยเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยกำหนดเป้าหมายก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573

ผลการจัดอันดับ GII 2022 โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ถือเป็นการวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศรวม 132 ประเทศทั่วโลก โดย อันดับ GII 2022 ครั้งนี้ 5 อันดับ แรกของโลกได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สวีเดน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศไทยยังคงอันดับที่ 43 และถือเป็นอันดับ 3 เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน รองจากอันดับ 7 สิงคโปร์ และอันดับ 36 มาเลเซีย รวมทั้งถือเป็นลำดับที่ 5 เมื่อเทียบกับ 37 ประเทศ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income Group) ลำดับที่ 1-4 ได้แก่ จีน บัลแกเรีย มาเลเซีย และตุรกี ซึ่งปัจจัยตัวชี้วัดทางนวัตกรรมของไทยที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ ค่าใช้จ่ายมวลรวมด้านวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ และสัดส่วนการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ถือเป็นอันดับ 1 ของโลก มากไปกว่านั้น ยังพบหลายด้านที่ทำได้ดีขึ้น อาทิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันดับดีขึ้น 14 อันดับ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาพรวมดีขึ้น 7 อันดับ โดยเฉพาะประสิทธิภาพด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในระดับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน

ทั้งนี้ GII วัดความสามารถด้านนวัตกรรมในดัชนี 2 กลุ่ม 7 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ดัชนีย่อยปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ประกอบด้วย 1. สถาบัน (Institution) 2. ทุนมนุษย์และการวิจัย (Human capital and research) 3. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 4. ระบบตลาด (Market sophistication) 5. ระบบธุรกิจ (Business sophistication) และดัชนีย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ประกอบด้วย 1. ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and technology outputs) 2. ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative outputs)

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ผลการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำมาโดยตลอดถึงความสำคัญและการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรรม เพราะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง รัฐบาลพร้อมทำงานสนับสนุนและเคียงข้างไปกับภาคเอกชน ผลักดันผลงานทางวิชาการสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้จริง ตั้งเป้าการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 ซึ่งการดำเนินการจะมุ่งเน้นประเด็น อาทิ  การสนับสนุนการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ธุรกิจที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การกระตุ้นการจดทะเบียนสิทธิบัตรและใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img