วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกHighlight“บอร์ดรฟท.”ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการฯ ชู 6 ยุทธศาสตร์ 
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บอร์ดรฟท.”ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการฯ ชู 6 ยุทธศาสตร์ 

“บอร์ดรฟท.” อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการชู 6 ยุทธศาสตร์ เตรียมเสนอ “คนร.” ก่อนชง “ครม.” อนุมัติ  เล็งดึงเอกชนเข้าใช้ระบบรางเพิ่มรายได้จากการบริหารสัญญาเช่า ทั้งทรัพย์สินและที่ดิน-ปรับบริการใช้พลังงานสะอาด

นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. อนุมัติแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566-2570 หรือแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังจากแผนฉบับเดิมได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทางการรถไฟนำมาดำเนินการเห็นผลสำเร็จแล้ว อาทิ การลงทุนแนวเส้นทางรถไฟฯทางคู่ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทลูก บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (เอสอาร์ที) เพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟ

“หลังบอร์ดอนุมัติแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ การรถไฟเตรียมรายงานไปยังกระทรวงคมนาคมเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะเสนอไปยัง คนร.เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกำหนดปี 2566 เป้าหมายของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ จะผลักดันให้การรถไฟมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (อีบิทด้า) เป็นบวกภายในปี 2576″นายอวิรุทธ์ กล่าว

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่นี้ จะมุ่งเน้นการวางแผนธุรกิจเพื่อหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดใช้ระบบรางทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้แผนนี้ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน อาทิ การจัดหารถจักรเพื่อทดแทนและขยายกำลังการขนส่ง รวมทั้งการลดต้นทุนซ่อมบำรุงรักษาระบบรางด้วยการจ้างเหมา (Outsource) เพิ่มสัดส่วนเอาต์ซอส งานบำรุงทางของเอกชนให้มากขึ้น

2.พลิกฟื้นธุรกิจหลัก อาทิ ขยายการขนส่งสินค้าใน อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ บริการจัดการขบวนรถโดยสารเพื่อลดการขาดทุน พัฒนาขบวนท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น การขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อวัตถุ เพิ่มลูกค้าในกลุ่มหีบห่อขนาดใหญ่และขยายพันธมิตรเอกชนให้มากขึ้น รองรับกับการขยายตัวของภาคขนส่ง พัฒนาคุณภาพการบริการโดยสารและสินค้า รวมไปถึงบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ

3.พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง จะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่า ทรัพย์สินและที่ดิน เร่งดำเนินการในแปลงศักยภาพของสัญญาขนาดใหญ่ สนับสนุนบริษัทลูกในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ และพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Non-core) อาทิ บริการอาหารเครื่องดื่ม จำหน่ายสินค้า หรือจับมือพันธมิตรจัดทำแพคเกจท่องเที่ยว จำหน่ายพร้อมกับตั๋วรถไฟ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากขึ้น เป็นต้น

4.ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน ระบบทางคู่ที่ รฟท.พัฒนาไปแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแรก โมเดลขณะนี้จะศึกษาเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้ระบบราง เพื่อใช้งานโครงสร้างพื้นฐานนี้ให้มีประสิทธิภาพ ช่วงที่ รฟท.ยังอยู่ระหว่างจัดหาหัวรถจักรเพิ่มเติม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง จะเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาเช่าเดินรถในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของภาครัฐได้

“ตอนนี้การรถไฟยังอยู่ในช่วงจัดหาและซ่อมบำรุงหัวรถจักร เพื่อนำมาให้บริการใช้ระบบรางให้เต็มประสิทธิภาพ แต่ตามแผนจะต้องดำเนินการจัดซื้อเพิ่มเติมกว่า 100 คัน ปัจจุบันได้รับอนุมัติจัดซื้อแล้ว 50 คัน ตรวจรับมอบแล้ว 20 คัน เหลือจะทยอยรับมอบอีก 30 คัน คาดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หากให้ประเมินการใช้ระบบรางอย่างเต็มศักยภาพ ส่วนตัวมองว่าจะต้องใช้หัวรถจักรมากถึงพันคัน ดังนั้นระบบรางของไทยยังมีศักยภาพรองรับการเดินรถได้อีกมาก”นายอวิรุทธ์ กล่าว

5.ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู ส่วนนี้การรถไฟจะเพิ่มสายงานด้านการตลาดโดยตรงในส่วนธุรกิจโดยสารและสินค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ จะปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ด้านค่าล่วงเวลา และค่าทำงานวันหยุด พร้อมทั้งพัฒนาระบบบัญชีให้สามารถจำแนกแสดงประสิทธิภาพให้แต่ละกลุ่มธุรกิจชัดเจนขึ้น 

6.พัฒนาระบบรางด้วย บีซีจีโมเดล พัฒนาระบบรางด้วยนวัตกรรมสีเขียว เป็นกระแสทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนให้ความสำคัญผลักดันเรื่องนี้ การรถไฟมีเป้าหมายปรับการให้บริการรถไฟบางขบวนจากเชื้อเพลิงดีเซลสู่การใช้พลังงานสะอาดหรือระบบไฟฟ้า (อีวี) 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img