วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกNEWS“สำนักวิจัย”ประสานเสียง“กนง.” เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.00%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สำนักวิจัย”ประสานเสียง“กนง.” เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.00%

“สำนักวิจัย” ประสานเสียง “กนง.” เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในวันนี้( 31 พ.ค.) เป็นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก-ความไม่แน่นอนประเด็นทางการเมืองในประเทศ

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (31 พ.ค.) คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00%

ทั้งนี้เนื่องจากการประชุม กนง. ครั้งก่อน กนง. ได้ส่งสัญญาณว่า กนง. อาจยังไม่หยุดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภครวมถึงแนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุม กนง. วันที่ 31 พ.ค. นี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจากประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

ขณะที่แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง  โดยธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเริ่มส่งสัญญาณอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ส่งผลให้ กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.00% ไปตลอดปีนี้ หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญความผันผวน

สำหรับค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า คาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับปัจจัยหนุนหากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อต่างจากที่ตลาดส่วนใหญ่คาด ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นคงจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าได้  

ฝั่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดว่า กนง. จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00% ในการประชุมวันนี้ (31 พ.ค.)  ก่อนจะลากยาวตลอดปี 66 โดยข้อจำกัดเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงิน จะเป็นแรงกดดันให้ กนง.ยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่แม้จะลดลงไปบ้าง จากแรงกดดันด้านอุปทานที่ลดลง แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง และน่าจะยังเจอแรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในภาคบริการตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทำให้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในช่วงครึ่งปีหลัง อาจชะลอลงเล็กน้อยและทรงตัวที่ระดับ 1.5%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) คาดว่าจะชะลอลงสู่ระดับ 2.3% จากผลของฐานที่สูงปีก่อนหน้า รวมถึงราคาอาหารสดและพลังงานที่ปรับลดลงตามลำดับ

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU มองว่า ความกังวลของ ธปท. ต่อความเสี่ยงขาบน (Upside risk) ของเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง และทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่จำกัด (Restictive) กิจกรรมเศรษฐกิจ ทำให้ยังคงมุมมองในกรณีฐานว่าระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ 2% ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยระยะยาวนับตั้งแต่มีการกำหนดเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย โดยในการประชุมวันนี้ (31 พ.ค.) คาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายของปีอีก 0.25%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงด้านบวก (Upside risks) ที่อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าที่เรามองไว้อาจเกิดขึ้นได้จากความแข็งแรงของอุปสงค์ในประเทศที่ดีกว่าคาด เช่น การฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะกระตุ้นการจ้างงานและการบริโภค และการส่งผ่านต้นทุนที่มากกว่าคาด ที่ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและราคาในระยะข้างหน้า

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img