วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกHighlightเศรษฐกิจโลกเสี่ยงผันผวน-ความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาล ‘ธปท.’ชี้ฉุดรั้ง‘จีดีพี’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจโลกเสี่ยงผันผวน-ความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาล ‘ธปท.’ชี้ฉุดรั้ง‘จีดีพี’

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนเม.ย.ฟื้นตัวจากท่องเที่ยว-การบริโภคหนุน จับตาส่งออก-การจัดตั้งรัฐบาลในประเทศฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุด

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากผลของฐานสูงในปีก่อน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวม ตั้งแต่ไตรมาส 1 ขยายตัวใกล้เคียงกับที่ธปท. ประเมินไว้ อย่างไรก็ตามในอนาคตยังมีความไม่แน่นอน ทั้งในฝั่งที่เป็นปัจจัยบวกและปัจจัยลบ โดยความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยคือภาคการส่งออก ขณะที่ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลใหม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”

ขณะที่รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

  • ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ กลุ่มยุโรปไม่รวมรัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
  • เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัวตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนปรับลดลงจากทั้งยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์หลังเร่งซื้อไปมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
  • สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออก
  1. ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ หลังหมดรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ
  2. น้ำตาลไปอินโดนีเซีย
  3. เครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน
  • ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตในหมวด (1) ยานยนต์ จากการรอระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง หลังเร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า (2) อาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ และ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการผลิต

อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากอุปสงค์สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรม

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตาม การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมหมวดเชื้อเพลิงลดลงจากเดือนก่อน อาทิ การนำเข้าเหล็กรีดแผ่นและพลาสติกจากจีนและญี่ปุ่น

  • ส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน จากรายจ่ายในโครงการโทรคมนาคมและระบบรถไฟชานเมือง หากไม่รวมผลของฐาน รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนด้านโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง
  • ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสดและหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน อีกทั้งราคาในหมวดอาหารสดลดลง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่า เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

“เงินบาทเดือน เม.ย. ค่าเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น 0.6% ขณะที่ พ.ค. ในช่วงครึ่งเดือนแรกเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น 0.38% โดยปัจจัยหลักมาจากตลาดปรับลดคาการณ์ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวค่อนข้างดี อย่างไรกก็ตามในช่วงครึ่งหลังของเดือนพ.ค. เงินบาทได้กลับมาอ่อนค่า จากการที่เฟดยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย”

สำหรับแนวโน้มเดือน พ.ค. 66 และในระยะต่อไป คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังต้องติดตาม เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อกาลังซื้อขอผู้บริโภค และ ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล

“มองไปข้างหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนพ.ค. คาดว่าจะยังฟื้นตัว แต่อาจมีกิจกรรมบางอย่างที่ชะลอตัวลงบ้าง เช่น การท่องเที่ยวที่เข้าสู่โลว์ซีซั่น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐที่หมดลง คาดทั้งปีจีดีพีโต 3.6%”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img