วันศุกร์, ธันวาคม 6, 2024
spot_imgspot_img
หน้าแรกHighlight“เงินบาทแข็งโป๊ก”ในรอบ 2 เดือน ประธานเฟดส่งสัญญาณหั่นดอกเบี้ยเดือนก.ย.นี้
spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็งโป๊ก”ในรอบ 2 เดือน ประธานเฟดส่งสัญญาณหั่นดอกเบี้ยเดือนก.ย.นี้

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.31 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า” ในรอบ 2 เดือน หลังผู้เล่นในตลาดตีความจากถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสล่าสุดว่า เฟดยังมีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.31 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.28-36.40 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดตีความจากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ต่อสภาคองเกรสล่าสุดว่า เฟดยังมีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน ราว 77% (สูงขึ้นเล็กน้อยจากการแถลงต่อสภาคองเกรสในวันแรก) และเฟดก็มีโอกาสราว 99% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Nvidia +2.7% หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดล่าสุด นอกจากนี้ หุ้นธีม AI ยังได้แรงหนุนจากรายงานคาดการณ์รายได้ของบริษัทชิพรายใหญ่ TSMC ที่สูงกว่าคาด ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้นได้ดี ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.91% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มทยอยออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI โดยเฉพาะกลุ่ม Semiconductor อย่าง ASML +2.0% เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ

ในส่วนตลาดบอนด์นั้น มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.27%-4.28% (โดยรวมอาจเรียกได้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถว 4.30%) เรามองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ก็สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนอีกครั้ง

โดยบอนด์ยีลด์ระยะยาวก็มีโอกาสผันผวนสูงขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงตามคาด กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดก็อาจยังคงมีความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ หากสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ทว่า เราคงมุมมองเดิม เน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกันบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็ลดความน่าสนใจของการถือเงินดอลลาร์ลง ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ยังคงแกว่งตัวเหนือระดับ 161.50 เยนต่อดอลลาร์ ให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.9-105.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นราว +15 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ก่อนที่ราคาทองคำจะย่อตัวสู่ระดับ 2,377 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงสู่ระดับ 3.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวแถวระดับ 3.4% พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดและนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินบาทจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On)

ซึ่งอาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นได้อีกครั้ง ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจใช้จังหวะดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นไทยได้ หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการของตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทยังอาจเผชิญแรงกดดันแถวโซน 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน รวมถึงแรงซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงนี้

ทั้งนี้ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดแนวรับแถว 36.25 บาทต่อดอลลาร์ได้ ก็มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องเห็นการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งจะหนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้แนวต้านระยะสั้นแถว 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ราคาล่าสุดอยู่แถว 2,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img