ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” หลังดอลลาร์อ่อนค่า เกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 32.50-32.65 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด
รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ก็มีส่วนหนุนให้ ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา
แม้ว่ารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด ทว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -3.7%, Apple -2.9% อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น และช่วยให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +2.3% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.93%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อ -0.38% หลังบรรยากาศในตลาดการเงินถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเดินหน้าขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม China Recovery อย่าง LVMH -3.6%, BMW -1.8% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell +2.2% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ
ในฝั่งตลาดบอนด์นั้นพบวา บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways แถวระดับ 3.73% โดยแม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่า บรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ยาก
ทั้งนี้มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจมีผลกระทบต่อตลาดการเงินเพียงในระยะสั้น ตราบใดที่ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้ลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ที่ไม่ใช่เพียงการตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธหรือโดรน โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม เรามองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และควรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาดีกว่าคาด และภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.0-101.4 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามความต้องการถือทองคำในช่วงตลาดกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย ADP ในเดือนกันยายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะใช้ประกอบการประเมินแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB
นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังพอมีกำลังอยู่ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงบรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน จนถึงระดับ 1-2 สัปดาห์ได้ โดยต้องจับตาท่าทีของทางการอิสราเอลในการตอบโต้ การโจมตีรอบล่าสุดจากทางอิหร่าน เพราะหากอิสราเอลตอบโต้กลับในลักษณะที่ไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้า ก็อาจสะท้อนว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะไม่ได้ทวีความรุนแรงและลุกลาม บานปลายมากขึ้น
โดยในระยะสั้น ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้น ซึ่งต้องระวังความเสี่ยงของการเกิด Short Squeeze หลังในช่วงที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดมีการสะสมสถานะ Net Short น้ำมันดิบไว้พอสมควร ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงระยะสั้นก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
จากโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะสั้น รวมถึงมุมมองของเราที่คงเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจกลับมาย่อตัวลงบ้าง หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทยอยคลี่คลายลงได้ ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุดไปแล้วในระยะสั้น (Call Bottom USDTHB แถว 32.00 บาทต่อดอลลาร์) แต่เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้จริง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 32.80 บาท ต่อดอลลาร์ และโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้
ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued มากขึ้น (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +1.0 หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.65 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)