วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกNEWSเร่งฉีดวัคซีน!!! หนุน“กลุ่มปิโตรเคมี-โรงกลั่น”ฟื้นตัวแรง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เร่งฉีดวัคซีน!!! หนุน“กลุ่มปิโตรเคมี-โรงกลั่น”ฟื้นตัวแรง

หลายประเทศในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมถึงประเทศจีน ได้เร่งฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ความกังวลเรื่องการติดเชื้อลด และได้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไปกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไทย โดยตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสให้ได้ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการฉีดวัคซีนคาดว่าจะได้เห็นการฉีดมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 และจะเป็นปัจจัยหนุนต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

ทั้งนี้จากทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนต่อความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้น และยังเป็นปัจจัยหนุนต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงกลั่นที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากในช่วงไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมา ทุกบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น มีผลประกอบการที่เติบโตแบบก้าวกระโดดหากเทียบกับช่วงไตรมาส 1/2563 หลายบริษัทมีผลขาดทุน ขณะเดียวกันผู้บริหารหลายบริษัท โดยเฉพาะ กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการกลั่นจะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่นได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มปตท.ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่ม ปตท.ยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาพรวมในปีนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าปี 2563 ที่เฉลี่ยในระดับ 42.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนค่าการกลั่น (GRM) ทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.0-2.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากปีก่อน ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มปตท.มั่นใจว่าผลประกอบการในปี 2564 จะเติบโตดีกว่าปี 2563 ซึ่งนอกจากจะได้รับจากปัจจัยด้านราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว กลุ่มปตท.สามารถบริหารจัดการการดำเนินงาน (Operation) ทำได้อย่างดี เดินเครื่องการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด-19

นายจิตศักดิ์ สุนทรพันธุ์ ผู้จัดการฝ่าย การเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 คาดว่าภาพรวมธุรกิจของบริษัทฯ จะยังคงเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 9,694 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในยุโรป สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในจีนที่มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีความต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นอย่างมากคาดว่าจะส่งผลให้ส่วนต่างราคา (สเปรด) ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทยังคงเป้าปริมาณการขายเติบโต 8-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการใหม่ 3 โครง คือ โครงการโพรพิลีนออกไซด์, โครงการโพลีออลส์ และ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP)

ส่วนทิศทางราคาผลิตภัณฑ์ในปีนี้ ทั้งผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง คาดว่าราคาจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อุปทานของทั้งโรงโอเลฟินส์และโรงโพลิเมอร์จะเพิ่มขึ้น หลังจากกำลังการผลิตใหม่ และการฟื้นตัวของโรงกลั่น โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก HDPE ในครึ่งปีหลัง 2564 จะเฉลี่ยในระดับ 1,000-1,100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนต่างของผลิตภัณฑ์ HDPE กับแนฟทาคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 480-540 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

น.ส.ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 คาดว่า ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2564 หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว หลังจากหลายประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกาได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้จำนวนมากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ และคาดว่าภายในไตรมาส 3 ปีนี้ หลายประเทศจะมีการฉีด 50-75% จะส่งผลให้การติดเชื้อลดลงคนมั่นใจการเดินทางมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลัง TOP คาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนค่าการกลั่น (GRM) คาดว่ายังฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงฤดูกาลขับขี่ส่งผลดีต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่น้ำมันอากาศยาน(เจท) ก็คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 คาดว่าส่วนต่างราคาพาราไซลีน (PX) และเบนซีน (BZ) อาจอ่อนตัวลงบ้างเล็กน้อย จากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาด ขณะที่ส่วนต่างราคา (สเปรด) BZ ในไตรมาส 1/2564 อยู่ในระดับสูงมากที่ 300 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้นแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตใหม่ แต่สเปรดก็ยังอยู่ในระดับสูง

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า แนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2/2564 ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาส 1/2564 โดยปัจจัยหลักยังคงเกี่ยวกับกลุ่มโอเปกและพันธมิตร รวมทั้งประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการักษาสมดุลของตลาด โดยค่อยๆ ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ประมาณ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามแนวโน้มของตลาดในอนาคต รวมถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น โดยสถานการณ์ตลาดน้ำมันในไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะเป็นช่วงที่ตลาดเริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุล และอาจจะเข้าสู่สภาวะอุปทานตึงตัว ในไตรมาส 3/2564 และในไตรมาส 4/2564 หลังจากที่ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่หลายประเทศเร่งดำเนินการฉีดเพิ่มขึ้น และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img