วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกHighlight“สมหมาย”ซัดนโยบายรัฐบาลต้องเปลี่ยนเป็น “เสี่ยงตาย-แร้นแค้น-อย่างยั่งยืน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สมหมาย”ซัดนโยบายรัฐบาลต้องเปลี่ยนเป็น “เสี่ยงตาย-แร้นแค้น-อย่างยั่งยืน”

”สมหมาย’’โพสต์อัดรัฐบาลออกนโยบายที่ผิดพลาดฟาดเศรษฐกิจดิ่งเหว  ถ้าต้นไตรมาส 4 เปิดประเทศไม่ได้เตรียมGDP ติดลบ 2 ปี และคนไทยต้องอยู่แบบ เสี่ยงตาย แร้นแค้น อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.64 นายสมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ”นโยบายที่ผิดพลาดฟาดเศรษฐกิจดิ่งเหว” โดยระบุว่า  ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม นี้ ได้ประเมินการขยายตัวของ GDP ของประเทศในปี 2564 นี้ เหลือแค่ 0.7 % ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม ที่ลดเหลือ 1.3 % ต้องขอชมเชยหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองนี้ว่าเป็นผู้ที่กล้าทำในสิ่งที่ได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ทำแบบอวยรัฐบาลเหมือนหลายๆหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้เห็นกันบ้างแล้ว

ได้ฟังจากนักวิชาการและนักธุรกิจบางคนออกความเห็นว่าปีนี้ GDP ไทยจะถึงกับติดลบ ซึ่งจะเป็นการติดลบถึง 2 ปีซ้อน โชว์ให้ชาติอื่นๆเห็นถึงความอ่อนแอและไร้สมรรถภาพในการบริหารเศรษฐกิจของผู้นำไทย ผมไม่อยากพูดมาก แต่เหลือเวลาอีก 4 เดือนเศษกว่าจะสิ้นปี ดูตามสถานการณ์แล้วคนไทยจะเห็นการติดลบ 2 ปีซ้อนของ GDP ได้ไม่ยาก หากเปิดประเทศไม่ได้ในต้นไตรมาสสุดท้ายของปี

อย่างไรก็ตาม แม้ผมไม่มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ตัวเลข GDP แต่ผมยังมีประสบการณ์ในการดูการดำเนินนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงขอวิเคราะห์ถึงนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. นโยบายนำเงินงบประมาณของรัฐไปใช้จ่ายกระตุ้นการบริโภค ตั้งแต่กลางปี 2561 หลังจากได้ประจักษ์ว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอยที่เกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีนด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าต่อกันยกแผง จนทำให้ประเทศด้านอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น กลุ่มประเทศ EU, แคนาดา, ญี่ปุ่น ต่างก็ต่างปรับภาษีนำเข้าด้วย และในเวลาอีกไม่นานก็ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเล็กอย่างไทยในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนสินค้า ที่เรียกว่า Supply Chain จนทำให้ภาคการส่งออกทรุดตัว และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562 ภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ซวนเซอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุใหญ่มาจากการส่งออกติดลบในปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีถึงกลางปีติดลบทุกเดือน และทั้งปีติดลบ 2.7 %

รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้ออกมาตรการ 4 ชุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เช่น มาตรการเพิ่มสวัสดิการคนจน มาตรการจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ SMEs มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ที่ชื่อว่า “โครงการชิม ช้อป ใช้”

นี่คือมาตรการที่ผิดพลาดมาก ซึ่งต่อมายังได้ขยายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยเหมือนคนไม่รู้เรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ล่าสุดในต้นปี 2563 ได้ออกมาอีก 2 โครงการคล้ายกัน คือ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” และ “โครงการคนละครึ่ง” ซึ่งออกมาหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นแล้ว จนกระทั่งเมษายน 2564 ได้นำโครงการลักษณะนี้มาใช้อีกเรียกว่า “โครงการ ยิ่งใช้ ยิ่งได้” จนกลายเป็นตำนานว่า รัฐบาลที่เก่งกาจของไทยได้ทำโครงการแจกเงินงบประมาณไปกระตุ้นให้ประชาชนควักเงินมาสมทบเพื่อใช้กินใช้เที่ยวทั่วประเทศ ในท่ามกลางการระบาดไม่หยุดหย่อนของโควิด-19

วันนี้ใครเห็นรูปธรรมของโครงการกระตุ้นการบริโภคของประเทศแบบนี้บ้างไหม สิ่งที่ผมเห็นก็คือ หนี้ครัวเรือนของคนไทยตอนเริ่มโครงการจนถึงขณะนี้เป็นเวลาประมาณ 2 ปีเศษ ได้เพิ่มขึ้นกว่า 5 % มาเป็น 91 % ของ GDP แล้ว คนไทยในระดับกลางและล่าง จะมีกี่คนที่จะมีเงินมาใช้ร่วมโครงการคนละครึ่ง ยิ่งกว่านั้นธุรกิจและร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ตอนนี้มีใครที่ยังยืนอยู่ได้กี่ราย

2) นโยบายต่อสู้กับโควิด-19 ทุกประเทศต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 มาด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่าการกำหนดนโยบายและนำมาตรการต่างๆมาต่อกรกับโรคร้ายของไทย ไม่เหมือนประเทศอื่นเขาจนมีเสียงด่าว่ารัฐบาลโดยเฉพาะตัวท่านนายกรัฐมนตรีมากมายจนสุดจะรับฟังได้ ความผิดพลาดในการบริหารเรื่องนี้มีให้เห็นในทุกเรื่อง นับตั้งแต่การตรวจคนไข้ การรักษาคนไข้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาและการจัดสรรวัคซีน ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็เชื่อว่าทำงานกันผิดพลาดขาดความโปร่งใสให้เห็น จนทำให้คนไทยติดโรคโควิด-19 และล้มตายกันมากจนน่ากลัว เกิดเป็นวิกฤตที่เลวร้ายมากในขณะนี้

วิกฤตของประเทศไทยครั้งนี้ดูได้ไม่ยาก มีแค่ 2 ด้านเหมือนเหรียญ ด้านหนึ่ง คือ ภาวะของคนติดเชื้อ การให้การดูแลรักษาคนที่เป็นโรค และภาพคนตายด้วยโรคร้ายจนแทบไม่มีวัดให้เผาศพตามขนบธรรมเนียมไทยได้ เรื่องเหล่านี้เสื่อมทรุดชัดเจน และอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย มองไปทางไหนเห็นแต่คนไม่มีงานทำ ความเป็นอยู่ของผู้คนเกิดความอดอยาก แร้นแค้นทั้งประเทศ และเศรษฐกิจโดยรวมแทนที่จะฟื้นในปีนี้กลับดิ่งเหวเหมือนนกปีกหัก และอาจจะลงลึกติดลบลงไปจากก้นเหวปีที่แล้วที่ GDP ได้ออกมาติดลบ 6.1 %

วิกฤตที่เกิดจากการด้อยสมรรถภาพและขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ จากข้อมูลในหลายๆด้านที่ได้บ่งบอกว่าประเทศไทย ขณะนี้ได้เกิดวิกฤตอันเลวร้ายแล้วนั้น สรุปได้ว่า มันเกิดจากการด้อยสมรรถภาพและการขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างยืนยันเรื่องนี้อยู่มาก

ลองดูจากเรื่องการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ที่เพิ่งผ่านพิธีปิดไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จะพบว่าประเทศญี่ปุ่นได้ทำหน้าที่เจ้าภาพได้อย่างครบถ้วนน่าชื่นชมมาก ทั้งๆที่ประเทศมีการระบาดของโควิด-19 อยู่หนักมากในลำดับที่ 32 หนักกว่าประเทศไทยที่อยู่ในลำดับที่ 37 ยิ่งไปกว่านั้น ในด้านการแข่งขันกีฬา ประเทศญี่ปุ่นทำผลงานอยู่อันดับ 3 ถือว่าจัดงานใหญ่ก็ได้ดี แข่งกีฬาก็เก่ง ทั้งๆที่มีการระบาดของโควิด-19 สูง

สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่ 59 หลุดความเป็นจ้าวเหรียญทองในกลุ่มอาเซียนเป็นครั้งแรกใน 17 ปี ที่ไทยครองความเป็นผู้นำมาถึง 4 สมัย ตั้งแต่โอลิมปิกปี ค.ศ. 2004 ถึงครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี ค.ศ. 2016 ไทยเคยได้อันดับที่ 35 ของโลก เที่ยวนี้ต้องนับว่าดวงดีที่ “น้องเทนนิส” คุณพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ สามารถทำคะแนนได้เป็นแชมป์เทควันโดในรุ่นน้ำหนัก 49 กก. ถ้าเธอพลาดไปได้เหรียญเงิน อันดับของไทยจะไม่ใช่ที่ 59 นะครับ หลุดไปอยู่อันดับที่ 79 ก็อาจเป็นไปได้ ทำยังไงได้เมื่อบ้านเมืองอ่อนล้าทั้งๆที่เรามีนักกีฬาเก่งๆมากมาย แต่พอมีการแข่งขันการกีฬาก็อ่อนล้าไปด้วย

อีกเรื่องที่คนไทยทุกคนควรรู้ไว้ คือ อันดับการรับรู้ของการคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) หรือ CPI ที่มีการจัดทำทุกปีโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปรากฏว่าในปลายปี 2563 จากจำนวน 180 ประเทศ ประเทศไทยติดอันดับที่ 104 ซึ่งประเทศที่มีอันดับเท่าๆกับไทยนอกจากประเทศเวียดนามแล้ว มีอีก 3 – 4 ประเทศ ที่ไม่ค่อยรู้จักชื่อ นี่คือปัญหาหลักในการบริหารประเทศของรัฐบาลไทยที่มีแต่สีเทาเข้มข้นขึ้นทุกวัน

สโลแกนของรัฐบาลปัจจุบันที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั้น ถึงเวลาที่ควรปรับเปลี่ยนได้แล้ว ถ้ายังนึกไม่ออกว่าควรจะเป็นอะไรดี ผมขออนุญาตเสนอว่าน่าจะเป็น “เสี่ยงตาย แร้นแค้น อย่างยั่งยืน”.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img