วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกHighlight“กฟภ.” คิกออฟ...“โรงไฟฟ้าชุมชน” จับตา“เอกชน”จองพื้นที่ชิงส่วนแบ่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กฟภ.” คิกออฟ…“โรงไฟฟ้าชุมชน” จับตา“เอกชน”จองพื้นที่ชิงส่วนแบ่ง

หลังจากที่รอกันมานานนับปีสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์) ล่าสุดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าก็ได้ประกาศวันที่จะรับยื่นซองเอกสารคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคาในวันที่ 27-30 เม.ย.นี้ จากที่เลื่อนมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

โครงการนี้มีเอกชนหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะยื่นประมูล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ลงนามเซ็นสัญญา (MOU) จับจองพื้นที่ไว้กับวิสาหกิจชุมชนกันไว้แล้ว พร้อมที่จะยื่นประมูลทันที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่คาดว่าจะเข้ายื่นประมูล แม้จะมีการรายงานข่าวว่ามีกว่า 700 บริษัทที่ยื่นขอให้ตรวจสอบระบบสายส่งในพื้นที่ของตนเอง เพราะการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นจะต้องมีระบบสายส่งรองรับ

สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามที่ประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นั้นแบ่งเป็น 1.ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย แน่นอนว่าบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้ย่อยมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลยกเว้นบริษัทที่เป็นลูกรัฐวิสาหกิจที่ต้องประมูลตามนโยบายรัฐ

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า การขยายการลงทุนในประเทศไทยยังไม่มีโครงการใหญ่ ซึ่งก็มีแต่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ที่มีความชัดเจน โดยบริษัทได้เจรจากับวิสาหกิจชุมชน และดำเนินทำข้อตกลงไว้ 10 โครงการทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล กับชีวภาพ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 250-300 ล้านบาทต่อโรง หรือประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า บริษัทฯสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ โดยได้เตรียมพื้นที่ไว้ที่ภาคใต้ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 2 โครงการ กำลังการผลิต 3-6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล


นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์) เนื่องได้ดำเนินการลงนามเซ็นสัญญา (MOU) กับวิสาหกิจชุมชนไว้แล้ว โดยเตรียมยื่นประมูลทั้งหมด 12 โครงการ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 10 โครงการ ชีวภาพ 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 40 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ก็มีบ้างโครงการที่อยู่พื้นที่เหนือตอนล่าง และก็ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตามในการร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นั้นบริษัทฯ มั่นใจในศักยภาพความเชี่ยวชาญที่ทำโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพมากนานซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ และยังมีความพร้อมทั้งในพื้นที่ เทคโนโลยี และสภาพคล่องทางการเงินเป็นอย่างดี และก็มั่นใจว่าได้ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการนี้ ซึ่งจะได้ตามการยื่นประมูลหรือไม่ก็ต้องรอดูผลต่อไป


ธีรวุฒิ ทรงเมตตา

นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะยื่นเสนอประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนมากกว่า 10 พื้นที่ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยมีการตกลงกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ไว้แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมด้านพืชพลังงาน ขณะเดียวกันบริษัทก็มีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่ และเงินลงทุนแล้ว

พิชัย ถิ่นสันติสุข


นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานที่ปรึกษา กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เป็นนโยบายที่ดีหากเริ่มดำเนินโครงการก็จะเป็นการเริ่มกระจายรายได้สู่ชุมชน เนื่องจากรูปแบบนั้นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนและต้องมีข้อกำหนดการร่วมทุนระหว่างผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 90% และวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในสัดส่วน 10% ซึ่งหากนำเอารูปแบบการลงทุนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ไปใช้กับโครงการผลิตไฟฟ้าโครงการอื่นก็จะเกิดประโยชย์กับชุมชนอย่างมาก

อย่างไรก็ตามการลงทุนในโครงการนี้ตนมั่นใจว่าจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของภาคเอกชนอย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าบริษัทที่เข้าประมูลโครงการนี้จะเป็นบริษัทที่เชียวชาญในด้านเชื้อเพลิงชีวมวล และชีวภาพมีความพร้อมทั้งพื้นที่ เทคโนโลยีและศักยภาพทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ตนประเมินว่าเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 10% ต่อโครงการ และคาดว่าการประมูลแข่งขันจะได้ราคาที่ต่ำกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 10%


ส่วนวันประกาศผลนั้น กฟภ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค ในวันที่ 21 พ.ค.2564 กำหนดยื่นอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายในวันที่ 4 มิ.ย.2564 โดย กกพ. จะแจ้งผลการอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 ก.ค.2564 และ กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 15 ก.ค.2564 และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก (ภายในวันที่ 12 พ.ย.2564) และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2567

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img