วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightสกนช.เสนอขยายภารกิจดูแลสำรองน้ำมัน-โครงข่ายท่อส่งน้ำมัน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สกนช.เสนอขยายภารกิจดูแลสำรองน้ำมัน-โครงข่ายท่อส่งน้ำมัน

สำนักงานกองทุนฯ ลั่นกองทุนน้ำมันฯเป็นกลไกสำคัญดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชน ยันยุบไม่ได้ต้องมีต่อไป พร้อมเสนอขยายภารกิจดูแลสำรองน้ำมัน และโครงข่ายท่อส่งน้ำมัน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง( สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯได้มอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประเมินผลสัมฤทธิ์การทำงานของกองทุนน้ำมันฯ โดยในวันที่ 9 ส.ค.67 จะมีการรับฟังความเห็นจากผู้ค้าน้ำมัน นักวิชาการ และทุกภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสรุปเป็นข้อเสนอในการปรับปรุงภารกิจกองทุนน้ำมันฯต่อไปหลังใช้มา 4 ปีนับจากมีพรบ.กองทุนน้ำมัน 2562

อย่างไรก็ตามมาถึงตอนนี้กลไกการทำหน้าดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันฯตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 จนมาถึงพรบ.กองทุนน้ำมัน 2562 มั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯทำหน้าที่ลดภาระให้กับประชาชน และเชื่อว่ากลไกนี้จะอยู่ต่อไป

ส่วนการปรับปรุงกฎหมายตามนโยบายที่จะนำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วัน (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นจะปล่อยน้ำมันในสต็อกออกมา เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศนั้น ตนมองว่าในทางปฏิบัติต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการสร้างคลังน้ำมันและซื้อน้ำมันมาสต็อก และไทยเป็นประเทศเล็กๆมีข้อจำกัดทั้งงบประมาณและพื้นที่สร้างคลังใหม่เพื่อเก็บสต็อกน้ำมัน รวมถึงการบริหารจัดการราคาน้ำมันที่ซื้อเข้าสต็อกที่เหมาะสม ต่างจากสหรัฐที่เรากำลังศึกษาเปรียบเทียบซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำมัน มีศักยภาพในการซื้อน้ำมันมาเก็บสต็อก จึงคิดว่าที่สุดแล้วกองทุนน้ำมันฯจะยังเป็นกลไกที่ถูกใช้งานต่อไป เป็นหมวดหนึ่งของกฎหมายใหม่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำลังยกร่าง

วิศักดิ์ วัฒนศัพท์

นอกจากนี้ยังเห็นว่าสำนักงานกองทุนน้ำมันฯควรมีบทบาทมากกว่ารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้ตอนร่างพรบ.กองทุนฯ 2562 มาใช้แทนคําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เสนอให้ภารกิจกองทุนฯรวมทั้งการลงทุนและบริหารจัดการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และโครงข่ายการขนส่งน้ำมันทางท่อด้วย แต่สุดท้ายถูกตัดภารกิจดังกล่าวออกไปเหลือเพียงภารกิจรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

สำหรับภาระสมของกองทุนน้ำมันฯ จากการตรึงราคาดีเซลนั้น เริ่มมีเงินไหลเข้าสุทธิเมื่อปลายเดือนก.ค.67  วันละ 88.15ล้านบาท หรือ 2,733 ล้านบาทต่อเดือน มาจากการเก็บเงินเข้ากองทุนฯในส่วนของเบนซินวันละ 108.21 ล้านบาทต่อวัน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว 6.36 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ดีเซลชดเชยอยู่ 40 สตางค์ทำให้มีเงินไหลออกจากดีเซลวันละ 26.73 ล้านบาท โดยมั่นใจจ่ายหนี้เงินกู้ครบ 105,333 ล้านบาทตามกำหนดภายใน 5 ปี เริ่มถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 ก.ค. 67 ติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท

ทั้งนี้ราคาน้ำมันในปัจจุบันมีความผันผวนค่อนข้างมาก คาดการณ์ได้ยากมากกว่าเดิมในช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคยพุ่งทะลุระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลสูงถึง 14 บาทต่อลิตรเพื่อทำให้ราคาในประเทศไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ในเวลานั้นกองทุนฯติดลบราว 130,000 ล้านบาททำให้จำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดถึง 35 บาทต่อลิตร

ส่วนความไม่สงบในตะวันออกกลางที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ จากการสู่รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลมีการประเมินว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ารัสเซียยูเครน เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและยังมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นเป็นระลอกทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่เหตุการณ์การสู่รบในตะวันออกกลางครั้งนี้ไม่ได้ขยายผลออกไป ประกอบกับการปรับลดกำลังการผลิตของสมาชิกโอเปกพลัสไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะลดกำลังผลิตจำนวน 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 68 ส่วนการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น สมาชิกโอเปกพลัส 8 ชาติจะเริ่มทยอยยุติการปรับลดกำลังการผลิตในช่วง 1 ปีตั้งแต่เดือนต.ค.67 จนถึงเดือนก.ย.68  และยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจในจีนและสหรัฐซบเซา ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวเดือนต.ค.67 ถึงมี.ค.68 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนดีเซลจะไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามหากสภาพคล่องของกองทุนฯถึงจุดวิกฤติ จากการตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นเดือนต.ค.67 จะมีการทำหนังสือไปยังกรมสรรพสามิต และสำนักงบประมาณอีกครั้ง เพื่อหามาตรการอื่นมาช่วย เช่น การลดภาษีสรรพสามิต หรือการดึงงบกลางมาสนับสนุน

ทั้งนี้เราพบว่าหลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซลถูกขยับกรอบการตรึงราคาจาก 32 บาทต่อลิตรเป็นไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.67 ทำให้ยอดการใช้ดีเซลต่อวันลดลงจากวันละ 71 ล้านลิตรในช่วง 2-3 เดือนก่อนเหลือ 68 ล้านลิตรต่อวันในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าราคามีผลต่อการประหยัดพลังงานของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ  

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img