วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกHighlight‘แผนพลังงานแห่งชาติ’มุ่งลดคาร์บอนต่ำ ผู้ประกอบการเอกชนได้รับอานิสงส์เต็มๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘แผนพลังงานแห่งชาติ’มุ่งลดคาร์บอนต่ำ ผู้ประกอบการเอกชนได้รับอานิสงส์เต็มๆ

กระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) โดยเน้นพลังงานสะอาด บูรณาการพลังงาน 4 ด้าน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ

ในขณะนี้แผนพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างเร่งยกร่างรายละเอียดแผนพลังงานแห่งชาติที่สอดคล้องกับแนวทางมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้การร่างรายละเอียดแผนพลังงานแห่งชาติแล้วประกาศใช้จะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว

2.ด้านก๊าซธรรมชาติ  เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศและการนำเข้า LNG

3.ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่งและพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่านให้กระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

4.ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการปรับเป้าหมายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

กุลิศ สมบัติศิริ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังจาก สนพ. จัดทำรายละเอียดการดำเนินการแล้วเสร็จ กระทรวงพลังงานจะเร่งนำเสนอ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบก่อนให้ สนพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อนกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติได้รับข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านและเป็นทิศทางการพัฒนาร่วมกันของทุกฝ่ายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการด้านพลังงานหลายรายก็ได้ปรับตัว และมีการลงทุนในธุรกิจที่เป็นพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนไว้อยู่แล้ว เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนจะได้รับอานิสงส์จากแผนพลังงานแห่งชาติเกือบทุกบริษัทที่ลงทุนด้านพลังงาน

อมร ทรัพย์ทวีกุล บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

“EA-GUNKUL รับอานิสงส์แผนพลังงานแห่งชาติ”

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของ EA ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) อยู่แล้ว เพราะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อย่างโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป พลังงานลม รวมถึงการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งลด Co2 ได้ปีละหลายแสนตัน

ดังนั้นแผนพลังงานแห่งชาติที่มุ่งเน้นส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนต่ำจะอานิสงส์ต่อธุรกิจในกลุ่ม EA ที่จะเป็นปัจจัยหนุนต่อการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง EA ก็จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันให้แผนพลังงานแห่งชาติบรรลุเป้าหมายในการลดคาร์บอนต่ำ

น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง

น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์  ประธานบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ก็มุ่งเน้นการลงทุนพลังงานสะอาดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า GUNKUL ยังไม่ได้ประกาศเป็นนโยบายหรือเป้าหมายการลดคาร์บอนต่ำ ซึ่งแผนพลังงานแห่งชาติจะสอดคล้องกับการลงทุนของ GUNKUL หากมีการประกาศเป็นนโยบายออกมาก็จะเป็นปัจจัยหนุนต่อบริษัทฯ

อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของบริษัทฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ลอยน้ำ พลังงานลม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 600 เมกะวัตต์ และในปี 2566 มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถนำไปลดเป็นคาร์บอนได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ขณะที่ยักษ์ใหญ่พลังงานไทยอย่างกลุ่มปตท.ก็มีการลงทุนในธุรกิจ EV ล่าสุดได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group)

“ปตท.วางเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก27%ในปี73”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มปตท.มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 27% ในปี 2573 จึงได้มีการปรับโครงสร้างการลงทุน โดยการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ในอนาคตจะนำกลไกราคาคาร์บอนเข้ามาประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society)

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ขณะเดียวกันรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคตจะมุ่งไปด้าน GO GREEN และ GO ELECTRIC มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการเดินทางของประชาชน ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานดังกล่าวกลุ่มปตท.เชื่อว่าเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมจะยังเป็นพลังงานที่สำคัญ โดยกลุ่มปตท.จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางพลังงานในอนาคตอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ปตท. ได้เริ่มรุกเข้าสู่ EV Value Chain โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนา EV Charging Platform, EV Station รวมถึงการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นผู้ดำเนินการลงทุน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img