วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกNEWS“บิ๊กป้อม”ขอบคุณทุกหน่วยงานร่วมมือกันกว่า 2 ปี ทำให้“ไทย”ผ่านพ้นโควิด-19
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กป้อม”ขอบคุณทุกหน่วยงานร่วมมือกันกว่า 2 ปี ทำให้“ไทย”ผ่านพ้นโควิด-19

“พล.อ.ประวิตร” ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมทำงานให้ไทยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2565 สรุปสาระสำคัญดังนี้

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยพบการระบาดของเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาสองปีครึ่ง ศบค. สามารถบริหารจัดการสถานการณ์จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งการประชุมในวันนี้จะได้พิจารณาแผนปฏิบัติการ และประมวลผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาจนถึงวันนี้ และการพิจารณาความเหมาะสมของการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

สำหรับมติ ศบค. ที่สำคัญมีดังนี้

  1. เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเหตุของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้คลี่คลายลงอย่างมาก โดยหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงสามารถนำมาตรการตามกฎหมายเข้าแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว
  2. รับทราบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานให้แก่จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในห้วงหลังจากการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแผนมีรายละเอียดประกอบด้วย สถานการณ์ วิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ประเด็นยุทธศาสตร์ จำนวน 4 ประเด็น และกลยุทธ์ รวมถึงกิจกรรมในการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป
  3. รับทราบประมวลผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ภายใต้ ศบค. จำนวน 9 ศูนย์ปฏิบัติการ ประกอบด้วย ผลการดำเนินการในห้วงที่ผ่านมารวมถึงปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่ศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ได้รวบรวมเพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการในอนาคต

โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำ ขอบคุณศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งตลอดมา และการตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นเรื่องยาก ที่ต้องพิจารณาโดยรักษาความสมดุลระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง ศบค.ได้ดำเนินการอย่างประสบผลด้วยดีตลอดมา

  1. รับทราบแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และการสร้างความเชื่อมั่นในระยะต่อไปโดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว โดยประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยด่วน โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 และการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New normal) อาจถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกศูนย์ปฏิบัติการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาได้ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว ยังขอเน้นย้ำเป็นภารกิจของทุกหน่วยงานที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป การประชุมในวันนี้ถือว่าภาพรวมของ ศบค. ได้ดำเนินการร่วมกันมาเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งได้เห็นผลลัพธ์ในการดำเนินงานทั้งในรูปของปฏิบัติการควบคุมโรค ความก้าวหน้าเรื่องวัคซีน รวมถึงผลลัพธ์ของหน่วยงานทุกหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ขอเน้นย้ำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนรองรับการปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะระดับจังหวัดและพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนแผนให้เกิดความสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรม ให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุก ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เข้าใจในการทุ่มเททำงานอย่างหนักของรัฐบาล

นอกจากนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนในภารกิจที่รัฐบาลดำเนินการ ทั้งในเรื่องการเตรียมความพร้อมการให้การบริการทางสาธารณสุข การกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติของประชาชนในขณะที่โรคโควิดถูกกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือด้วย.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img