วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกNEWSแนะ5สิ่งต้องทำ-เดิมพันครั้งสำคัญ ประชาชนยืนระยะสู้ยาวนานไม่ได้!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แนะ5สิ่งต้องทำ-เดิมพันครั้งสำคัญ ประชาชนยืนระยะสู้ยาวนานไม่ได้!

“หมอธีระ” วิงวอนรัฐบาลทบทวนมาตรการ และปรับเปลี่ยนกลไกบริหารนโยบายและวิชาการ แนะ 5 สิ่งที่ต้องทำ ชี้เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของประเทศ เพราะประชาชนไม่สามารถยืนระยะสู้อย่างยาวนานได้ ย้ำมาตรการไล่ตามโรค ล็อคบางพื้นที่ จะควบคุมได้น้อย เพราะเชื้อระบาดไปทั่ว

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 21 กรกฎาคม 2564…ทะลุ 192 ล้านคนแล้ว ในขณะที่รัสเซียก็มียอดติดเชื้อรวมเกิน 6 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 488,288 คน รวมแล้วตอนนี้ 192,205,331 คน ตายเพิ่มอีก 7,999 คน ยอดตายรวม 4,124,187 คน, 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร อินเดีย อเมริกา อินโดนีเซีย และบราซิล, อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 40,592 คน รวม 35,076,967 คน ตายเพิ่ม 220 คน ยอดเสียชีวิตรวม 625,244 คน อัตราตาย 1.8%, อินเดีย ติดเพิ่ม 42,123 คน รวม 31,215,142 คน ตายเพิ่ม 489 คน ยอดเสียชีวิตรวม 418,511 คน อัตราตาย 1.3%, บราซิล ติดเพิ่ม 27,896 คน รวม 19,419,741 คน ตายเพิ่มถึง 1,425 คน ยอดเสียชีวิตรวม 544,302 คน อัตราตาย 2.8%, รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,770 คน รวม 6,006,536 คน ตายเพิ่ม 784 คน ยอดเสียชีวิตรวม 149,922 คน อัตราตาย 2.5%, ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 18,181 คน ยอดรวม 5,890,062 คน ตายเพิ่ม 33 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,525 คน อัตราตาย 1.9%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น, สหราชอาณาจักรมียอดติดเชื้อใหม่ต่อวันนั้นมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง พรุ่งนี้จะมีจำนวนติดเชื้อสะสมจะแซงตุรกีขึ้นเป็นอันดับ 6 ของโลก, แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี สเปน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส กรีซ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น, แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน, แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่ของอิหร่านสูงถึง 27,444 คน เป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา, กัมพูชา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดน้อยกว่าสิบ

…หากมองด้วยใจเป็นธรรม และดูสถานการณ์จริงที่อยู่ตรงหน้า

ถือเป็น”โชคร้าย” ที่โลกของเราเจอการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มาจากไหนก็ยังฟันธงไม่ได้ 100% ว่าจะมาจากสัตว์ หรือมาจากแหล่งอื่นกันแน่

ถือเป็น “โชคร้าย” ที่การระบาดรุนแรงนี้กระจายไปทั่วโลก จนถือเป็นภัยคุกคามสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 102 ปีของโลก

ถือเป็น “โชคร้าย” ที่ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นี้แพร่ได้ง่าย เพราะอาศัยจุดอ่อนของมนุษย์ คือ การเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการอยู่เป็นสังคม ไปมาหาสู่ สื่อสาร ใกล้ชิดติดต่อกัน สังสรรค์กัน และจุดอ่อนสำคัญคือการรักความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต การแพร่เชื้อจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะคนเรามักไม่ชอบการถูกจำกัดให้อยู่นิ่ง อยู่คนเดียว กินข้าวคนเดียว ใส่หน้ากาก งดการติดต่อพบปะสังสรรค์

ถือเป็น “โชคร้าย” ไปอีกขั้น ที่ธรรมชาติของเชื้อโรคอย่างไวรัสนั้นมีการแบ่งตัวเร็ว มีการกลายพันธุ์ได้ง่ายเป็นกิจวัตร แต่โชคร้ายยิ่งขึ้นที่ไวรัสนี้กลายพันธุ์แล้วเกิดสายพันธุ์ที่เพิ่มสมรรถนะของมันให้แพร่ง่ายขึ้นมาก ติดเชื้อแล้วป่วยมากขึ้นรุนแรงขึ้น และตายได้มากขึ้น

ที่กล่าวมาข้างต้นคือ ความโชคร้ายที่เกิดจากธรรมชาติของเชื้อโรค แต่เราต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกประเทศทั่วโลกที่จะเกิดโรคระบาดนี้แล้วจะหนักหนาสาหัส ติดกันเป็นแสน ตายกันหลายพัน แบบไทย หรือมากกว่าไทย

จากรายงานเมื่อวานนี้ มีอยู่ 51 ประเทศที่มีจำนวนติดเชื้อสะสมเยอะกว่าไทย และมีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ที่มีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงกว่าไทย โดยมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นจริงๆ ที่มีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติมากกว่าเรา

สถานการณ์ที่เห็น ที่เป็น ที่เผชิญอยู่นี้ ไม่ได้เกิดจาก “โชคร้าย” ครับ แต่เกิดจากปัญหาด้านการบริหารและวิชาการที่ดำเนินมาตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคุมป้องกันโรค รวมถึงวัคซีน ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้ามีนโยบายและมาตรการที่ดีพอ ผลลัพธ์ของการป้องกันควบคุมโรคย่อมมีโอกาสที่จะต้องดีกว่านี้ ไม่ตายกันหลายพัน ไม่ติดกันหลายแสนในเวลาไม่กี่เดือนเช่นนี้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ไม่ควรยอมให้หยวนๆ หรือลืมกันไป แต่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องทั้งระดับบริหาร รวมถึงที่ปรึกษา และคณะทำงานวิชาการทั้งหมด จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบ และจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน

ยิ่งหากมองมาตรการไล่ตามโรค ด้วยการล็อคบางพื้นที่ ทั้งๆ ที่ระบาดรุนแรงกระจายไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศ โอกาสที่จะคุมได้ยิ่งน้อยยิ่งนัก หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้วิกฤติเช่นนี้ อาจพอยอมรับให้ทดลองทำได้ เพราะไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรมากมาย

แต่ท่านรู้ไหมว่า การทดลอง ไม่ว่าจะ 7 วัน หรือ 14 วันจากนโยบายและมาตรการดังที่กล่าวมานั้น อยู่ในภาวะวิกฤติของประเทศที่ไม่สามารถยอมให้ทำมาตรการเพื่อทดสอบทดลองดูได้ แต่จำเป็นต้องตัดสินใจทำมาตรการที่เข้มข้นเด็ดขาดอย่างทันเวลา หากการลองครั้งนี้ของท่านไม่สำเร็จ ลองคาดประมาณผลกระทบโดยคร่าวที่เกิดขึ้นดูไหมว่าเป็นอย่างไร

หากไม่สำเร็จ 7 วันผ่านไป คนติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเกือบ 80,000 คน และหากประเมินด้วยความใจกว้าง ใช้อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 0.5-1% นั่นแปลว่า มีโอกาสที่คนจะเสียชีวิตไปจากมาตรการที่ไม่สัมฤทธิ์ผล 7 วันนี้ได้ถึง 400-800 คน

หากคิดว่าจะประเมิน 14 วัน นั่นคือ 160,000 คนที่ติด และอีก 800-1,600 ชีวิตที่สูญเสีย ยังไม่นับกับผลกระทบที่จะทำให้การระบาดหนักมากขึ้นจนยากที่จะเยียวยาในอนคต และส่งผลต่อทั้งระบบสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจในระยะยาว

จึงอยากวิงวอนให้ทบทวนมาตรการ และปรับเปลี่ยนกลไกบริหารนโยบายและวิชาการ

1.ชะลอนโยบายเปิดเกาะ เปิดประเทศ

2.ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบาย และวิชาการ

3.เปลี่ยนนโยบายวัคซีน ใช้ mRNA เป็นวัคซีนหลัก หยุดการฉีดผสม เพราะจะส่งผลให้เกิดผลกระทบระยะยาวด้านการวางแผนฉีดวัคซีนต่างชนิดในอนาคต และยังมีความคลุมเครือทางวิชาการทั้งเรื่องผลในการป้องกัน ระยะเวลาในการป้องกัน รวมถึงปฏิกิริยาต่อการฉีดวัคซีนต่างชนิดในอนาคต

4.Full national lockdown พร้อมจัดระบบการปูพรมตรวจทุกพื้นที่

5.จัดระบบสนับสนุนช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างครอบคลุม

การตัดสินใจใช้มาตรการที่ถูกต้องและทันเวลาถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญยิ่งของประเทศ เพราะประชาชนจำนวนมากไม่สามารถยืนระยะสู้อย่างยาวนานได้แล้ว สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มุ่งเป้าป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เราต้องอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน ด้วยรักและห่วงใย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img