วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกHighlight“หมอธีระ”ชี้ตัวเลขติดโควิด“ยังอั้นอยู่” โอกาสพุ่งสูงกว่านี้-แนะเตรียมรับมือดีๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หมอธีระ”ชี้ตัวเลขติดโควิด“ยังอั้นอยู่” โอกาสพุ่งสูงกว่านี้-แนะเตรียมรับมือดีๆ

“หมอธีระ” ชี้ตัวเลขติดโควิดของไทยยังอั้นอยู่ มีโอกาสพุ่งสูงกว่านี้อีก แนะเตรียมรับมือให้ดี โดยเฉพาะในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด สะกิดดังๆ เชื้อโรคอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดหายนะ แต่การบริหารจัดการนโยบายต่างหากที่กำหนดความรุนแรงของหายนะ

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์แนวโน้มการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 11 สิงหาคม 2564…ทะลุ 204 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 589,901 คน รวมแล้วตอนนี้ 204,703,637 คน ตายเพิ่มอีก 9,639 คน ยอดตายรวม 4,325,459 คน, 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อเมริกา อิหร่าน อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย, อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 93,581 คน รวม 36,880,543 คน ตายเพิ่ม 617 คน ยอดเสียชีวิตรวม 634,608 คน อัตราตาย 1.7%, อินเดีย ติดเพิ่ม 36,316 คน รวม 32,033,333 คน ตายเพิ่ม 468 คน ยอดเสียชีวิตรวม 429,183 คน อัตราตาย 1.3%, บราซิล ติดเพิ่ม 34,499 คน รวม 20,212,642 คน ตายเพิ่ม 1,066 คน ยอดเสียชีวิตรวม 564,773 คน อัตราตาย 2.8%, รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,378 คน รวม 6,491,288 คน ตายเพิ่ม 792 คน ยอดเสียชีวิตรวม 166,442 คน อัตราตาย 2.6%, ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 28,576 คน ยอดรวม 6,339,509 คน ตายเพิ่ม 68 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,356 คน อัตราตาย 1.8%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น, แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 86.14 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน ส่วนเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง, กัมพูชา จีน ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ไต้หวัน และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์จากองค์การอนามัยโลก ล่าสุด 10 สิงหาคม 2021 มีเรื่องที่น่ารู้หลายเรื่อง

ความรู้ข้อที่ 1: “โอกาสที่ทำให้ติดเชื้อซ้ำ”
มีรายงานจากการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า สายพันธุ์เดลต้าจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ถึง 46%

ประโยชน์จากความรู้นี้คือ คนที่เคยติดเชื้อไปแล้วนั้นจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเช่นกัน และควรได้รับวัคซีน

ความรู้ข้อที่ 2: “เดลต้าทำให้ปริมาณไวรัสมากกว่าเดิม”
การศึกษาจากทั้งจีนและสหราชอาณาจักร พบหลักฐานที่สอดคล้องกันคือ การติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจะทำให้ไวรัสในตัวผู้ติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมกว่า 1,000 เท่า ซึ่งบ่งถึงการแบ่งตัวที่ไว และง่ายต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ

ประโยชน์จากความรู้นี้คือ นี่ไม่ใช่ไวรัสกระจอกนะหนู หากมาตรการควบคุมโรคไม่เข้มข้นพอ คงยากที่จะตัดวงจรการระบาด

ความรู้ข้อที่ 3: “คุณสมบัติของไวรัสกลายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์” (ดูตารางประกอบ)
ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า หากเปรียบเทียบระหว่างอัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า พบว่าเดลต้าน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะติดง่ายขึ้น (transmissibility) แพร่ง่ายขึ้น/มากขึ้น (secondary attack rate) ไม่ว่าจะเป็นคนที่ได้หรือไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อได้พอๆ กัน นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นชัดเจน ทำให้มีโอกาสป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น รวมถึงมีความดื้อต่อระดับแอนติบอดี้จากวัคซีนด้วย

ประโยชน์จากความรู้นี้คือ ทำให้เรามาประเมินสถานการณ์ของเราได้ว่า ด้วยการระบาดที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่มีทางที่จะจบลงได้เร็วด้วยมาตรการที่มีอยู่ เพราะการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถทำให้คนหยุดนิ่งได้จริงและทำเพียงเฉพาะบางพื้นที่ ระบบการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอ จำนวนการตรวจทำได้น้อยและไม่ครอบคลุมต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน เงิน ของ เครื่องไม้เครื่องมือ หยูกยา เตียง และวัคซีนมีข้อจำกัดทั้งเชิงปริมาณและประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปิดเกาะเปิดท่องเที่ยวและจะเปิดประเทศ

ตอนนี้เดลต้าระบาดไปทั่วโลก มากถึง 142 ประเทศแล้ว รวมถึงไทยเรา อย่างที่วิเคราะห์ไปวันก่อน ด้วยปัญหาจากลักษณะการตรวจคัดกรองโรคของไทยตอนนี้ น่าจะเห็นตัวเลขอั้นๆ อยู่ได้แค่ชั่วขณะ อันเป็นผลจาก ATK แล้วจะมีโอกาสที่จะกระโดดสูงอย่างทันทีทันใดได้ โดยอาจมาพร้อมกับจำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือวิกฤติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้ และเตรียมพร้อมรับมือให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเมืองในแต่ละจังหวัด และจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัด

นโยบายและมาตรการที่ดี ยืนบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ปราศจากกิเลสและอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจ ย่อมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการต่อสู้ที่มีโอกาสสำเร็จ ควบคุมโรคได้ ประชาชนในสังคมจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ดังที่เห็นในหลายประเทศทั่วโลก

แต่หากผิดทิศผิดทาง ผลลัพธ์ย่อมนำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งจำนวนติดเชื้อมากมาย จำนวนผู้เสียชีวิตแบบใบไม้ร่วง ความล้มละลายของธุรกิจเล็กกลางใหญ่ และผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจำเป็นที่ทุกคนในสังคมนั้นต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบจากคน กลุ่มคน ที่อยู่ในวงนโยบายและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมโรค การจัดซื้อจัดหายา วัคซีน และอื่นๆ

เพราะเชื้อโรคอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดหายนะ ปัจจัยหลักที่จะกำหนดความรุนแรงของหายนะคือ การบริหารจัดการนโยบายครับ สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มีกำลังใจป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตัวเราและครอบครัวไม่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง
COVID-19 Weekly Epidemiological Update. 10 August 2021.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img