วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกHighlight“สถาบันวัคซีนแห่งชาติ”มีคำตอบ “โอมิครอนกลายพันธุ์ วัคซีนป้องกันได้หรือไม่?”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สถาบันวัคซีนแห่งชาติ”มีคำตอบ “โอมิครอนกลายพันธุ์ วัคซีนป้องกันได้หรือไม่?”

‘สถาบันวัคซีนแห่งชาติ’ ชี้ฉีดวัคซีนดีกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และยังสามารถป้องกันการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสได้ทุกสายพันธุ์  ขณะที่ไทยยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 BA.4 และ BA.5

เฟซบุ๊ก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงกรณี’’เมื่อโอมิครอนกลายพันธุ์ วัคซีนยังป้องกันได้หรือไม่?’’ โดยระบุว่า  การระบาดของโรคโควิด 19 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 2 ปีครึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว และมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern; VOC) เกิดขึ้นหลายครั้ง เรื่อยมาตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟา บีตา เดลตา จนถึงสายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบัน ซึ่งการกลายพันธุ์นี้ส่งผลต่อความเร็วในการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ตลอดจนความสามารถในการติดเชื้อของไวรัส ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจวินิจฉัย การรักษา และวิธีการใช้วัคซีนในการป้องกันโรค เพื่อรับมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา

จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS‑CoV‑2 ขององค์การอนามัยโลกพบว่า เชื้อไวรัสยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด พบการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในแอฟริกาใต้ ซึ่งจากข้อมูลในขณะนี้ พบว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ข้างต้น มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการกลายพันธุ์ของไวรัสบางตำแหน่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พบในสายพันธุ์เดลตา

นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกายังมีรายงานพบการระบาดของไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยที่น่าจับตามอง เนื่องจากเมื่อพบการระบาด มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยทั้ง 3 ชนิดมีความรุนแรงในการก่อโรคมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกยังคงติดตามข้อมูลของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ฉีดวัคซีน /cr : FB ชมรมแพทย์ชนบท

รายงานการศึกษาจากแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดของไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบุว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ที่ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน มีระดับภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอในการป้องกัน BA.4 และ BA.5 ในขณะที่ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ BA.1 ที่มีประวัติเคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมีระดับที่สูงกว่า ทำให้สามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับวัคซีนมาก่อน มีรายงานสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่า และมีระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษาตัวน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เคยรับวัคซีน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนดีกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ยังสามารถป้องกันการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสได้ทุกสายพันธุ์

จากสถานการณ์ที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนี้ องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขจากทุกประเทศทั่วโลก จึงได้ให้การสนับสนุนการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ให้มีระดับสูงมากพอที่จะป้องกันการป่วยที่รุนแรงจากไวรัสกลายพันธุ์นี้ได้ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้ผู้ได้รับวัคซีนมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิผล

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 BA.4 และ BA.5 ในประเทศ แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังคงติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น หากมีการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสกลายพันธุ์ในประเทศ การเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้วนานมากกว่า 3 เดือน ร่วมกับการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล จะเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดนี้ไปได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img