วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกHighlightสธ.จ่อเคาะนิยาม‘โรคฝีดาษลิง’เป็นโรคติดต่ออันตราย วางแผนกักตัว-หาวัคซีน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สธ.จ่อเคาะนิยาม‘โรคฝีดาษลิง’เป็นโรคติดต่ออันตราย วางแผนกักตัว-หาวัคซีน

ลุ้นผู้เชี่ยวชาญ คร.ถก เคาะนิยามโรคฝีดาษลิงบ่ายวันนี้ พร้อมวางแผนกักตัว-หาวัคซีน จับตาการระบาด ประเมินผลกลุ่มเสี่ยงควรปลูกฝี ระบุหากติดเชื้อยังไม่มีอาการ เสี่ยงแพร่เชื้อน้อย

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขหารือร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เกี่ยวกับการปรับนิยามโรคว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ เบื้องต้นต้องมีเกณฑ์ 3 ข้อ คล้ายกับโรคโควิด -19 คือ 1.เกณฑ์ทางคลินิค ว่ามีอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง ที่ชัดๆ คือมีตุ่ม 2.เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ ว่าจะต้องมีการใช้แล็ปแบบไหน ระดับใด และ 3.เกณฑ์ทางระบาดวิทยา จะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยงว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมีการหารือกันก่อน เพราะที่ผ่านมา โรคฝีดาษลิงไม่มีมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเข้าได้ตามเกณฑ์หรือยัง จากนั้นจะให้คำแนะนำต่อกรรมการวิชาการ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบต่อไป   

เมื่อถามถึงการพิจารณาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมอีกครั้ง เพราะยังมีผู้ติดเชื้อหลักร้อยราย จะต้องคาดการณ์ก่อนว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้การปลูกฝีไม่ใช่ว่าจะทำวันนี้แล้วจะสามารถทำได้ทันที ยังต้องเตรียมหลายเรื่อง ทั้งวัคซีนที่จะมาปลูก ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนจัดหาว่ามีที่ไหนขายบ้าง ขายได้เท่าไหร่ ประเทศไทยจะฉีดใครได้บ้าง เราจำเป็นแค่ไหน ใครจะฉีดก่อนเพราะไม่ใช่ว่าสามารถฉีดได้ทุกคน เนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ ซึ่งหากต้องปลูก ก็จะพิจารณาจากคนที่อาจจะมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น บุคลากรการแพทย์อาจจะต้องเตรียมการเอาไว้

ส่วนประชาชนทั่วไปยังต้องประเมินอีกว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง ผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไป อาจจะเสี่ยงน้อย เพราะเคยปลูกฝีมาแล้ว ดังนั้นต้องดูข้อมูลทางระบาดเพิ่มเติมว่าจะเป็นกลุ่มไหนบ้าง ตอนนี้จึงดูที่กลุ่มเดินทางไปประเทศที่มีการติดเชื้อ แต่ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จนกว่าได้ข้อมูลมากกว่านี้ว่าที่แอฟริกา ยุโรป การระบาดไปถึงตรงไหนบ้าง ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่มต้น มีหลักร้อยราย แต่เราก็ไม่ประมาท เบื้องต้นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อนั้น เป็นการติดเชื้อจากการร่วมงานเทศกาลกัน รวมถึงมีการมีเพศสัมผัส ซึ่งจึงเป็นไปได้กับทุกคน อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่ายุโรป มีการวางมาตรการที่ค่อนข้างดี อย่างเบลเยี่ยมกักตัว 21 วัน อาจจะทำให้การระบาดไม่ข้ามทวีปก็ได้ หากไม่ได้ใกล้ชิดจริงๆ ทั้งนี้เท่าที่ดูคนที่ติดเชื้ออายุไม่เกิน 60 ปี

เมื่อถามว่ากรณีติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า คนติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่ระยะแพร่เชื้อคือระยะที่มีตุ่มเกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะมีไข้ มีตุ่ม จึงจะเริ่มแพร่เชื้อ ส่วนก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่ระยะแพร่เชื้อ แต่ต้องติดตามต่อ

ฝีดาษลิง-คัดกรองผู้โดยสาร / cr : FB กรมควบคุมโรค

เมื่อถามว่าประเทศไทยจะมีการพิจารณาเรื่องการกักตัวอย่างไรหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โดยหลักการคือกักเท่าจำนวนวันฟักตัวที่นานที่สุด ซึ่งโรคฝีดาษลิงนั้นมีระยะฟักตัว คือ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่จะกักตัวกันประมาณ2 สัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญก็หารือกันในวันนี้ ส่วนประเทศที่เราเฝ้าระวังตอนนี้ตอนนี้ยังมี 3 ประเทศหลักที่มีการระบาดในประเทศ คือ อังกฤษสเปน โปรตุเกส ส่วน 17 ประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ เกณฑ์กักตัวเบื้องต้น คือมาจากประเทศเสี่ยง มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อถึงจะเข้านิยาม ซึ่งจะเคาะนิยามวันนี้

หากเจอคนมีความเสี่ยงจะมีการขอเก็บสิ่งส่งตรวจ และส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง และใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงทราบผล หากเป็นลบก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ขณะนี้ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีรายงานการส่งตรวจเชื้อในผู้เดินทาง แต่สั่งการให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพิ่มการเฝ้าระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาคลินิกผิวหนัง ทั้งนี้จังหวัดท่องเที่ยวอาจจะต้องมีการให้ความรู้บุคลากรการแพทย์ และประชาชนมากขึ้น

ส่วนองค์การอนามัยโลกตอนนี้ยังไม่ได้ประกาศยกระดับโรค มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีการระบาดผิดปกติ ในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด แต่คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็ว ๆ นี้และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามในช่วง 2-3 วันมานี้ตัวเลขไม่ได้ขึ้นเยอะ ยังต้องติดตามต่อไป.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img