วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกNEWS‘พิธา’ยกทีมหารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตั้งเป้าต้นปีหน้าเห็นดัชนีคอร์รัปชันต้องดีขึ้น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พิธา’ยกทีมหารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตั้งเป้าต้นปีหน้าเห็นดัชนีคอร์รัปชันต้องดีขึ้น

พิธา’ ยกทีม ‘ก้าวไกล’ หารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตั้งเป้าต้นปีหน้าเห็นดัชนีคอร์รัปชันต้องดีขึ้น พร้อมฉายโรดแมป 100 วันแรก

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล พร้อมคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของพรรค ประกอบด้วย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นายรังสิมันต์ โรม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายวรภพ วิริยะโรจน์ และ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ เข้าพบปะพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนำโดยนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชันฯ

นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา จะเห็นได้ว่าตลอด 4 ปีในการทำงานของพรรคก้าวไกลในสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดโปงการทุจริตและการตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณภาครัฐอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และเมื่อได้รับเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมาและเป็นแกนนำเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้ทำ MoU กับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อวางกรอบแนวทางการบริหารประเทศร่วมกัน ซึ่งในข้อ 2 ระบุว่าทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที” และข้อ 7 ระบุว่า แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้ง Corruption Perception Index : CPI พบว่าหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนและลำดับอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ดังนั้น เราจึงมีเป้าหมาย ต้องการเร่งแก้ปัญหาการทุจริตให้เห็นผล ทำให้ดัชนี CPI ของประเทศไทยมีคะแนนและลำดับดีขึ้นได้โดยเร็วที่สุด โดยหากผลักดันให้นโยบายการเปิดเผยข้อมูลรัฐ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับโกง สำเร็จได้ภายใน 100 วันตามที่ตั้งไว้ เชื่อว่าต้นปีหน้า จะมีข่าวดีว่าคะแนนและลำดับของประเทศไทยใน CPI จะสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน และประชาชนจะยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต้องทำให้ระบบดีด้วย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงมีหลักคิดสำคัญในการออกแบบระบบ คือจะต้องเป็นระบบที่ 1.ไม่มีใครอยากโกง 2.ไม่มีใครกล้าโกง 3.ไม่มีใครโกงได้ 4.ไม่มีใครโกงแล้วรอด โดยได้ออกแบบนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งและพร้อมนำไปปฏิบัติต่อไป เช่น การใช้ระบบ AI จับโกง ตรวจสอบแพทเทิร์นที่ส่อทุจริตในการบริหารจัดการภาครัฐ, การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ Open Government และ Open Parliament รวมทั้งนโยบาย ‘คนโกงวงแตก’ คือการออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อนให้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน จะทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกงระแวงกันเองจนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง รวมทั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบคอร์รัปชันอย่างเช่น ป.ป.ช. ต้องยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น จะได้มีความรับผิดรับชอบต่อประชาชน ทั้งนี้จะมีการนำผลการหารือและข้อเสนอแนะไปสู่คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของพรรค และเดินสายพูดคุยหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็ว

ด้าน นายวิเชียร กล่าวว่า ดีใจที่พรรคก้าวไกลติดต่อเข้ามาพูดคุยหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เชื่อว่าพรรคมีความมุ่งมั่น จริงจังในประเด็นนี้ และภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความหวังว่าภาคการเมืองแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนบางประเด็นที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมองเห็นโอกาสที่จะสามารถร่วมมือกันได้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่นายณัฐพงษ์  กล่าวว่า 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกลมีโรดแมป เราสามารถเปิดประชุมสภาฯ และใช้มติ ครม. เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ข่าวสารสาธารณะฯ กลับมาพิจารณาต่อได้เลยทันที, ระบบ AI จับโกง ที่เราสามารถต่อยอดจากระบบ ACT.AI ได้ทันที เบื้องต้นใช้ข้อมูลเดิมของหน่วยงานเท่าที่มีก่อน แต่หากเห็นว่ายังมีข้อมูลที่มีอยู่แล้วแต่ไม่เปิดเผยก็จะสั่งให้เปิดเผยทันที  รวมถึงใน 100 วันแรก ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบ แก้ไข แผนงบประมาณประจำปีถัดไป เชื่อว่าจะสามารถตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และนำไปใช้ในโครงการที่คุ้มค่ามีประโยชน์ต่อประชาชน รวมได้กว่า 2 แสนล้านบาท รวมถึงพรรคก้าวไกลยังผลักดันหลักการ Open Parliament ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกชุดให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบได้ เชื่อว่าจะทำให้การคอร์รัปชันลดน้อยลง ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอีก และหลัง 100 วันจะผลักดันนโยบายบัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อให้สามารถสอดคล้องกับแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ เช่นการเข้าชื่อถอดถอน, เสนอร่างกฎหมาย และอาจจะสามารถต่อยอดในอนาคตได้ เช่นการเลือกตั้ง ประชามติ กระบวนการงบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินการใดๆ นั้นสะดวก รวดเร็ว ผิดพลาดน้อย แต่ต้นทุนต่ำ.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img