วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกHighlightศาลอนุญาตฝากขัง“โตโต้”ข้อหาอั้งยี่ หวั่นออกไปจะก่อความวุ่นวายต่อเนื่อง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศาลอนุญาตฝากขัง“โตโต้”ข้อหาอั้งยี่ หวั่นออกไปจะก่อความวุ่นวายต่อเนื่อง

“โตโต้” อ่วมหนัก ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ข้อหาอั้งยี่-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.โรคติดต่อ-มั่วสุม 5 คนขึ้นไป-ขัดขวางและประทุษร้ายจนท. พนักงานสอบสวนค้านประกัน เกรงออกไปก่อความวุ่นวายต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.64 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ยื่นคำร้องฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กรณีนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” อายุ 31 ปี กับพวกรวม 15 คน แกนนำและสมาชิกกลุ่ม Wevo ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-19 มี.ค.นี้ เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 30 ปาก รอผลตรวจลายนิ้วมือประวัติต้องโทษ และอื่นๆ

คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า สืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนพฤติการณ์การกระทำความผิดของกลุ่ม Wevo โดยมีนายปิยรัฐ หรือ “โตโต้” จงเทพ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม Wevo ตามรายงานสืบสวนของตำรวจสันติบาล ได้ข่าวในเชิงลึกว่า ในวันที่ 6 มี.ค. จะมีการนัดหมายรวมกลุ่มกันบริเวณลานจอดรถอาคารจอดรถ ห้างสรรพสินค้าเมเจอร์ รัชโยธิน เพื่อวางแผนที่จะนำอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก ระเบิดควัน และวัตถุอื่นที่ใช้เป็นอาวุธได้มาใช้ในการก่อเหตุสร้างความวุ่นวาย และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมเพื่อสร้างสถานการณ์ ซึ่งในการชุมนุมที่ผ่านมาปรากฏว่าได้มีกลุ่มบุคคลเข้าแทรกซึมรวมอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ใช้หนังสติ๊กพร้อมลูกแก้วและน็อตเป็นอาวุธทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งยังใช้ระเบิดควันขว้างใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง

ต่อมาวันที่ 6 มี.ค. เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นบุคคลมารวมกลุ่มกันมีจำนวนประมาณ 50 คน ที่บริเวณอาคารจอดรถ 6 ห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน เมื่อได้สังเกตใบหน้าของกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว พบว่ามีบางคนที่มีใบหน้าใกล้เคียงกับสมาชิกในกลุ่ม Wevo ซึ่งได้รับรายงานการสืบสวนจากตำรวจสันติบาลก่อนหน้านี้ ว่ามีลักษณะรวมตัวกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลเพื่อกระทำผิด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การรวมกลุ่มกันของบุคคลข้างต้นนั้นมีลักษณะว่าเป็นการชุมนุมมั่วสุมกันอันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเป็นกลุ่มสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมารวมกลุ่มมั่วสุม ซึ่งอาจจะก่อเหตุสร้างความวุ่นวายและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมเพื่อสร้างสถานการณ์

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าไปแสดงตัวเพื่อขอทำการตรวจค้นกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้น โดยก่อนทำการตรวจค้นได้แสดงความบริสุทธิ์ใจให้ผู้ต้องหากับพวกดูจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงทำการตรวจค้นผลการตรวจค้นพบสัมภาระเป็นสิ่งของทั่วไป และยังตรวจค้นพบวัตถุซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ (อาทิเช่น เสื้อเกราะ พร้อมแผ่นเหล็กกันกระสุน), วัตถุซึ่งอาจใช้เป็นอาวุธ และวัตถุซึ่งอาจใช้ก่อความวุ่นวายในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองจำนวนหลายรายการ

อย่างไรก็ตาม ประกอบกับข้อมูลที่ได้สืบทราบมาก่อนหน้านี้น่าเชื่อว่านายปิยรัฐ ผู้ต้องหาที่ 1, นายภัทรกัณฑ์ รุ่งอุทัย ผู้ต้องหาที่ 2, นายมงคล ศรีสงค์ ผู้ต้องหาที่ 3 และนายเกียรติศักดิ์ แสนนามวงษ์ ผู้ต้องหาที่ 4 มีพฤติกรรมร่วมกันกระทำความผิดกับกลุ่มวัยรุ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายปิยรัฐกับพวกทั้ง 4 คน แต่ระหว่างควบคุมตัวแกนนำเดินทางด้วยรถยนต์เพื่อไปคุมตัวที่ บก.ตชด.ภ.1 ปรากฏว่าได้มีกลุ่มการ์ด Wev๐ ซึ่งรออยู่ได้เข้ามาพยายามขัดขวางการขนย้ายผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่รถสำหรับบรรทุกผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผู้ต้องหาบางส่วนได้รับการช่วยจากกลุ่มการ์ด Wevo ติดตามทำร้ายเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ เปิดประตูรถให้ผู้ถูกจับหลบหนีไปได้ จนกระทั่งเวลา 19.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมด

รายชื่อผู้ต้องหาประกอบด้วย 1.นายปิยรัฐ จงเทพ 2.นายภัทรกัณฑ์ รุ่งอุทัย 3.นายมงคล ศรีสงค์ 4.นายเกียรติศักดิ์ แสนนามวงษ์ 5.นายบารมี เลิศวิทยาประสิทธิ์ 6.นายธีรวีร์ ปรีดีย์ 7.นายกรินทร์ ศรีนาคร 8.นายวราวุฒิ จันทร์ประมูล 9.นายณัฐพงศ์ คำจันทร์ 10.นายวชิรวิทย์ บุญมา 11.นายอมร เอกรัมย์ 12.นายศุภพล แต้มมณี 13.นายภากร สอนศรี 14.นายธนภัทร ธรรมโชติ 15.นายธนวัฒน์ บุษราคัม

โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดฯ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ, อั้งยี่, สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อจะกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้ายฯ หรือจะต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธหรือโดยร่วมการกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และทำให้เสียทรัพย์ ผู้ต้องหาทั้งหมด ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากหากปล่อยตัวไปแล้วเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี อีกทั้งกลุ่มผู้ต้องหานี้ยังมีพฤติการณ์กระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น อยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีในความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ในท้องที่อื่นๆ อีกหลายคดี เช่นท้องที่ สน.สำราญราษฎร์, สน.นางเลิ้ง, สน.พญาไท, สน.ยานนาวา และ สน.ชนะสงคราม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมโดยส่วนรวมต้องการความร่วมมือในการงดการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อภายในประเทศ แต่หากศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 15 ราย ก็ขอศาลได้โปรดกำหนดเงื่อนไขกลุ่มผู้ต้องหา โดยห้ามเข้าร่วมการชุมนุมหรือการกระทำใดๆ ด้วยประการทั้งปวงอันเป็นการยุยงหรือสนับสนุนให้มีการชุมนุมไม่ว่ากรณีใดๆ หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

ศาลพิเคราะห์แล้ว ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายปิยรัฐ หรือ “โตโต้” โดยเห็นว่า ผู้ต้องหา 1 มีพฤติการณ์ คุกคาม ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ประกอบกับผู้ต้องหาที่1 ถูกดำเนินคดีในคดีอื่นลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีกหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาที่ 1 จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันที่ถูกกล่าวหา หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ส่วนผู้ต้องหาอื่นอีก 14 คน ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 4.5 หมื่นบาท

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img