วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“สมาคมสภาทนายความ”หนุนตั้ง“สสร.”ลุยแก้รธน. สร้างกติกาทางการเมืองใหม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สมาคมสภาทนายความ”หนุนตั้ง“สสร.”ลุยแก้รธน. สร้างกติกาทางการเมืองใหม่


นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย หนุนตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ลุยแก้รัฐธรรมนูญ สร้างกติกาทางการเมืองใหม่ ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะยุติลงทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า สารนายกสมาคมทนายความฯ 2567

ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยการเลือกตั้งจะถูกใช้เป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งหรือแก้ไขปัญหาทางการเมือง เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนในประเทศเผชิญความขัดแย้ง หรือเกิดทางตัน (Deadlock) ทางการเมืองซึ่งต้องการการตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งเพื่อหาทางออก รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการยุติความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติแบบอารยะที่ทุกฝ่ายยอมรับ

สถานการณ์ดังกล่าวตรงกันข้ามกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิงเพราะแม้ประเทศไทยจะผ่านการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาแล้วสองครั้ง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองยังดำรงอยู่และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งของไทยไม่ได้เป็นเครื่องมือในการยุติความขัดแย้งหรือเป็นทางออกทางการเมืองให้กับประเทศ สาเหตุเกิดจากกฎกติกาทางการเมืองไม่เป็นธรรม มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย

ปัญหาของประเทศจึงเกิดจากรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ฝ่ายอำนาจนิยมหรือรัฐราชการได้ควบคุมการบริหารประเทศ มีอำนาจเหนือฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชน โดยใช้องค์กรอิสระและศาลซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งต้องมาจากระบบราชการแทบทั้งสิ้น เช่น คุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 232 (1) – (7) ทำให้องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ที่มีแนวคิดแบบรัฐราชการอนุรักษ์นิยมและเป็นฝ่ายตรวจสอบ แต่กลับมีอำนาจแทรกแซงหรือควบคุมการทำงานของฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชนได้ เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เบียดบังอำนาจให้ไว้ หรือบางครั้งก็เพิ่มอำนาจให้ผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมฝ่ายการเมือง

รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งของคนในชาติจึงควรเร่งคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้เป็นผู้กำหนดกติกาทางการเมืองใหม่ผ่านตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง (สสร.) เพราะ หากกฎกติกาเป็นธรรมและอำนาจกลับคืนมาเป็นของประชาชน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรทุกฝ่ายจะยอมรับ คล้ายกับการชกมวยไทยที่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือดถึงเลือด แต่ไม่มีใคร โกรธใครและเมื่อครบยกจะยอมรับผลที่กรรมการชูมือให้เป็นฝ่ายชนะ ทั้งสองฝ่ายจะไม่ลงมาต่อสู้กันข้างล่างเวทีอีกเพราะมีกติกาที่เป็นธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะยุติลงทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสวงหาประโยชน์จากความขัดแย้งเพราะเป็นต้นทุนของประเทศชาติ

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
5 มกราคม 2567

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img