วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกNEWSความเห็น‘กฤษฎีกา’39ปีก่อน‘ก้าวหน้า’ ‘ติดคุกในไทย-ต่างปท.’ห้ามลงเลือกตั้ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ความเห็น‘กฤษฎีกา’39ปีก่อน‘ก้าวหน้า’ ‘ติดคุกในไทย-ต่างปท.’ห้ามลงเลือกตั้ง

เปิดความเห็น “กฤษฎีกา” เมื่อ 39 ปีก่อนสุดก้าวหน้า ยุค “อมร จันทรสมบูรณ์” เป็นเลขาธิการฯ ตอบข้อหารือของ “มหาดไทย” ชัดๆ “ไม่ว่าจะเป็นการถูกจำคุกในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยคดีสมาชิกภาพส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เคยต้องคำพิพากษจากศาลประเทศออสเตรเลียว่า “คำพิพากษา ย่อมหมายถึงคำพิพากษาของรัฐนั้น ไม่หมายถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ แม้ข้อเท็จจริงผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนรับเลือกตั้งเป็นส.ส. จึงไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลไทย ไม่ขาดคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นส.ส. หรือ รัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย

ล่าสุดมีผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Chawalit Na Nakorn นำเสนอความเห็นเรื่อง…“การตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญก้าวหน้าหรือล้าหลัง..??” โดยระบุว่า…กรณีของคุณธรรมนัสฯ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ในวันนี้ว่า แม้ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวล์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัคร ส.ส.ไม่ทำให้มีคุณสมบัติต้องห้ามการเป็น ส.ส.เพราะการต้องคำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นศาลแห่งรัฐนั้น ไม่รวมศาลต่างประเทศ
.
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เคยมีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เช่นเดียวกัน คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยตีความไว้ให้รับฟังได้อย่างสนิทใจ ดังนี้

cr : FB Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล

เรื่องเสร็จที่ ๒๗๖/๒๕๒๕
.บันทึก เรื่อง หารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ปัญหาการตีความมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
.
กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท๐๓๑๔/๕๕๗๔ ลงวันที่ ๒๐เมษายน ๒๕๒๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า มาตรา ๙๖[๑] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ รวม ๗ ลักษณะและมาตรา ๙๖ (๕) ได้กำหนดผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ
.
“เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท”
.
การจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙๖ (๕) ดังกล่าว จะหมายความเฉพาะการถูกจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว หรือหมายความรวมถึงการถูกจำคุกในต่างประเทศด้วย
.
กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การถูกจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตามมาตรา ๙๖ (๕) น่าจะหมายถึงการถูกจำคุกในประเทศไทยและรวมถึงการถูกจำคุกในต่างประเทศด้วย เพราะ
.
๑.เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไปเข้าสมัครรับเลือกตั้ง มูลเหตุน่าจะมาจากบุคคลที่เคยถูกจำคุกนั้น ความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไปไม่ยอมรับนับถือโดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง ซึ่งแตกต่างกับผู้ที่กระทำผิดโดยประมาทเพราะความผิดดังกล่าวผู้กระทำผิดไม่มีเจตนากระทำผิด หรือความผิดลหุโทษ ซึ่งถือเป็นความผิดเล็กน้อยเพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ดังนั้น การที่บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก กฎหมายจึงต้องให้พ้นโทษเกินกว่า ๕ ปี เพื่อให้โอกาสประชาชนได้ติดตามพฤติการณ์ และเพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตน
.
๒.หากตีความให้การจำคุกตามมาตรา ๙๖ (๕) หมายถึงการจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว ย่อมจะเป็นผลทำให้ผู้ที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศมาแล้วใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลทำให้สภาพบังคับตามข้อ ๑. ไม่บังเกิดผลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ลักษณะความผิดบางประเภทซึ่งผู้กระทำผิดได้กระทำลงในต่างประเทศเป็นความผิดที่ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ความผิดฐานลักทรัพย์ความผิดฐานปล้นทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น .
.
นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายังได้ให้อำนาจศาลไทยในการพิจารณาอรรถคดีและลงโทษผู้กระทำผิดที่ได้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรในลักษณะความผิดบางประเภทอีกด้วย ซึ่งพิจารณาได้จากมาตรา ๗[๒] มาตรา ๘[๓] มาตรา ๙[๔] มาตรา ๑๐[๕] มาตรา ๑๑[๖] แห่งประมวลกฎหมายอาญา
.
ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้งซึ่งไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำลงโดยประมาทแล้ว หากกระทรวงมหาดไทยจะวางแนวทางปฏิบัติแก่จังหวัดไม่ให้รับสมัครบุคคลดังกล่าว โดยถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะถูกต้องหรือไม่ ประการใด จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
.
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว และได้ฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย(กรมการปกครอง)แล้วมีความเห็นดังต่อไปนี้

ตุลาการศาลรัฐธรามนูญวินิจฉัยคดีคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส

สำหรับปัญหาที่กระทรวงมหาดไทยหารือมานี้ เมื่อได้พิจารณามาตรา ๙๖[๗] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่า บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และ

เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก” เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกของศาลในประเทศใด และบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผลในกรณี เช่น ความผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดในประเทศ ต้องห้าม ถ้าทำผิดในต่างประเทศไม่ต้องห้าม ฉะนั้น บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการถูกจำคุกในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามเจตนารมณ์แห่งมาตรา ๙๖ (๕)[๘] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
.
ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕)[๙] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
.
(นายอมร จันทรสมบูรณ์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรกฎาคม ๒๕๒๕

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img