The Active ไทยพีบีเอส จับมือภาคีเครือข่าย ถกปัญหายุคดิจิทัล นักวิชาการ – ผู้เชี่ยวชาญ ชี้กระทบต่อสุขภาวะจิต ย้ำแก้ด้วยนโยบายสาธารณะ ควบคุมเนื้อหาจากบิ๊กเทค
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดกิจกรรมเสวนาเชิงนโยบาย หรือ Policy Forum ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “ทวงคืนสมาธิ” แก้ปมคุกคามสุขภาวะทางจิตยุคดิจิทัล เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเปิดเบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฉากหน้าของโลกดิจิทัล ระดมความคิดสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อลดผลกระทบสุขภาวะทางจิต
ผศ.ปนันดา จันทร์สุกรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะหัวหน้าโครงการสำรวจสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดีทางดิจิทัล ปี 2567 เปิดเผย สถิติใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลคนไทยปีที่ผ่านมา พบว่า 76% ไม่เคยหยุดใช้โซเชียลมีเดียแม้แต่วันเดียว ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และสุขภาวะทางจิตอื่น ๆ มีแนวโน้มพบเห็นในสังคมมากขึ้น จากการสำรวจสุขภาวะดิจิทัล 2567 พบข้อมูลน่าห่วง ว่า จากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 5,000 คน คนส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อทำงาน/เรียน 5-6 ชั่วโมงต่อวัน และเพื่อความบันเทิง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน เรียกว่า แทบทั้งวันจะอยู่ติดกับสมาร์ทโฟน อีกทั้งพบการใช้สมาร์ทโฟนขณะกินข้าว หรือพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว คิดเป็น 4 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง และ 62% ไม่จำกัดเวลาการใช้งาน นอกจากนี้แต่ละช่วงวัยยังมีพฤติกรรมที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นปัญหาปัจเจกบุคคลล แต่ที่จริงแล้วกลับเป็น “โรคแห่งยุคสมัย” ถือว่าเป็นปัญหาระดับสังคมที่ต้องแก้ด้วยนโยบาย
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone กล่าวว่า วิธีคิดของบริษัทโซเซียลมีเดีย คือ ทำยังไงให้คนใช้แอปฯ ให้นานที่สุด จึงส่งการแจ้งเตือนให้คนกลับมา และเลือกฟีดข่าวให้ตรงใจผู้ใช้ อิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า “บิ๊กเทค” เหล่านี้ รวมกัน 5-10 บริษัท จึงมีบทบาทในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ซึ่งเสนอว่า ควรมีระบบมาควบคุมคอนเทนต์ และมีกฎหมายมาควบคุมบิ๊กเทค แต่ระหว่างนี้ควรมีเครืองมือมาใช้งานในเบื้องต้นก่อน เช่น มีฟีเจอร์ให้พ่อแม่เข้าไปคุมการใช้โซเซียลฯ ของเด็ก เช่น ยูทูป ที่แยกแอปฯ เป็น ยูทูปคิดส์ หรือควรมีมีซอฟแวร์แชททำงานโดยเฉพาะ ไม่ปนกับแอปฯ คุยทั่วไป จึงมองว่าในระยะสั้น เครื่องมือเหล่านี้ช่วยทวงคืนสมาธิได้ระดับหนึ่ง
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า โลกปัจจุบันอยู่ยากกว่าสมัยก่อน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือมีความพยายามจากระบบเศรษฐกิจ มีผู้เล่น หรืออุปสงค์เยอะมาก แต่อุปทาน หรือประชากรโลกมีจำกัด ระบบเศรษฐกิจนี้ ต้องแย่งความสนใจของมนุษนย์ ด้วยการสร้างคอนเทนต์ บวกกับอัลกอลิทึ่ม ดึงให้เราอยู่ในจุดนั้น
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า รัฐมีความพยายามเชื่อมต่อกับเอกชน ภาคประชาชน มากขึ้น เกิดความร่วมมือ และเสนอนโยบายเข้าไปทางภาครัฐ ยกตัวอย่าง การแก้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่เครือข่ายฯ มีการเสนอความคิดเห็นเข้าไป รวมถึงงานต่าง ๆ เช่น Hack ใจ ด้านสุขภาพจิต ก็ทำต่อเนื่อง และเกิดการเชื่อมต่อกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่จะปรับเป็น สุขภาพจิตและยาเสพติด เกิดการปรับโครงสร้างกรมสุขภาพจิต มีการตั้งกองทุน ซึ่งเป็นความพยายามในการดึงทรัพยากรมาเพื่อทำงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เมื่อก่อนพูดถึงโรงพยาบาลจิตเวช แต่ตอนนี้เราพูดถึงการสร้างก่อนซ่อมสุขภาพจิต ช่วยลดความสูญเสียของคนทั้งชาติไปได้ มีเงินจาก สปสช. ที่จะดูแลก่อนป่วย ร่วมมือกับองค์กร มหาวิทยาลัย จึงจะไม่สูญเสียคนที่ควรจะขับเคลื่อนประเทศ ส่วนการควบคุมเทคโนโลยี ต้องสร้างสมดุลให้ชัด มีการทำฟังชั่นก์บางอย่างให้ พ่อแม่ ควบคุม การใช้งานแพลตฟอร์ม
สอดคล้องกับ ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า โจทย์วันนี้คือการทวงคืนสมาธิ ปัจจัยที่ก่อเกิดปัญหาดังกล่าวคือเรื่อง เงิน งาน และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม จึงต้องคุยไปถึงเรื่องนโนยบาย ทั้งกรณีโซเชียล และนโยบายสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดยมีหลายตัวอย่างนโยบายสุขภาพจิตในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทย มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งระบุว่า เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อจากนายจ้าง คำถามคือมีสิทธิปฏิเสธ ไม่เท่ากับ การเพิกเฉย ทั้งนี้จากการติดตามพบว่าในความเป็นจริงลูกจ้างปฏิเสธนายจ้างได้น้อยมาก
“การทวงคืนสมาธิ ต้องทำในหลายระดับ ไม่ใช่แค่ความยิมยอมส่วนบุคคล แต่ต้องพูดถึงกลไกสังคม ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ไปไกลถึง บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งต้องดูแลผู้ใช้งานด้วย สุดท้ายรัฐต้องมีนโยบายสาธารณะ จึงจะสามารถทวงคืนสุขภาพจิตเรามาได้” ผศ.ธีรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน พร้อมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการกระบวนการกฎหมาย นโยบายสาธารณะ ต่าง ๆ ได้ที่ www.thaipbs.or.th/policywatch
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS ▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram, Threads