วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
spot_img
หน้าแรกPRวุฒิสภาฯชื่นชมไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่ดี พร้อมรับทราบรายงานการปฏิบัติงาน ปี66
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วุฒิสภาฯชื่นชมไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่ดี พร้อมรับทราบรายงานการปฏิบัติงาน ปี66

ไทยพีบีเอส รายงานผลปฏิบัติการปี 2566 ต่อวุฒิสภา ชูผลงานส่งมอบคุณค่าต่อสาธารณะ 5 ด้าน นำเสนอข่าวที่ทุกคนวางใจ พึ่งพิงได้-สะพานเชื่อมความหลากหลาย-สารประโยชน์และความบันเทิงที่คุ้มค่า-ส่งเสริมการเรียนรู้-การมีส่วนร่วม ด้านส.ว.ส่วนใหญ่ชื่นชมทำหน้าที่นักข่าวมืออาชีพ เป็นตัวอย่างสื่อที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “เจิมศักดิ์” ยืนยันรักษามาตรฐานสื่อสาธารณะที่ดีต่อไป

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) โดยมีผู้เข้าร่วมรายงาน 4 ท่าน ได้แก่ รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข กรรมการบริหารและรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล กรรมการบริหารและผู้อำนวยการสำนักดิจิทัล เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566 โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่

 1. คุณค่าของการนำเสนอข่าวสารที่ประชาชนสามารถวางใจและพึ่งพิงได้ ยกตัวอย่างกรณีวิกฤตปลาหมอคางดำ ซึ่งไทยพีบีเอสเกาะติดประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันอย่างเข้มข้นและจะติดตามต่อจนกว่าจะสามารถช่วยให้สังคมพบทางออก อีกประเด็นกรณีปัญหาพิพาทแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีกว่า 40 ปี ซึ่งไทยพีบีเอสได้ติดตามสืบค้นข้อมูล และรับฟังเสียงของทุกฝ่ายอย่างตอเนื่อง ทำให้การนำเสนอครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม สืบสวนขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง

2. คุณค่าต่อสาธารณะ ด้านการสืบสานถักทอและหยั่งรากทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไทยพีบีเอสเชื่อว่าเนื้อหาทางวัฒนธรรมคือสะพานที่เชื่อมให้คนที่แตกต่างกันสามารถเข้าใจกันได้ ทั้งในรูปแบบละคร สารคดี ดนตรี

3. คุณค่าด้านการให้สารประโยชน์และความบันเทิงที่คุ้มค่า ซึ่งมีผลสำรวจจากผู้ชมร้อยละ 85.7 ให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่สร้างสรรคสาระบันเทิงที่แตกต่าง ร้อยละ 86.5 ยอมรับว่าละครไทยพีบีเอสสร้างแง่คิดเชิงบวกแก่สังคม

 4. คุณค่าด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นโรงเรียนของสังคม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีการผลิตน้อยในอุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัล โดยไทยพีบีเอสเป็นผู้ผลิตเนื้อหาร้อยละ 59 ของสัดส่วนเนื้อหาทั้งหมดในสื่อทีวี

 5. คุณค่าด้านการส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วม ไทยพีบีเอส ยึดมั่นในการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ และมีความเป็นห่วงสภาพปัจจุบันที่ประชาชนมีแนวโน้มจะเปิดรับฟังแต่สิ่งที่ตนเองอยากได้ยิน หรือ Echo Chamber

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ได้ดำเนินการตามแผนเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยมีจำนวนผู้ชมและผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในเกือบทุกแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส ได้รับการประเมินผลการดำเนินงานจาก TDRI ในระดับดีมาก ส่วนผลการประเมิน ITA อยู่ที่ 95.81 คะแนน ในระดับผ่านดี

จากนั้นสมาชิกวุฒิสภาได้ลุกขึ้นอภิปราย 9 ท่าน อาทิ นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว.กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ติดตามไทยพีบีเอสมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำงานได้ดีเยี่ยม แต่อาจขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้เนื้อหาดี ๆ ไปไม่ถึงประชาชน จึงอยากเสนอให้ตัดเป็นคลิปสั้น ๆ ส่งต่อไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากขึ้น ในส่วนของการนำเสนอข่าว เท่าที่ติดตามมา ถือว่ามีความเป็นกลางมากที่สุด ขอให้อดทนต่อคำวิจารณ์ เป็นสื่อที่มีสาระประโยชน์ โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุเฉลี่ยสูงวัย ดังนั้น ขอสนับสนุนไทยพีบีเอส อะไรที่ทำดีอยู่แล้วให้ทำต่อไป และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดในด้านการสร้างการเรียนรู้

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กล่าวว่า ขอบคุณไทยพีบีเอส ที่เป็นสื่อคุณภาพที่แม้การทำงานจะเต็มไปด้วยความท้าทายและความลำบาก ซึ่งจากที่ประสบมากับตัวเองจากการเป็นผู้ว่าฯ ในหลายจังหวัดทั้ง จ.พิจิตร จ.ศรีสะเกษ จ.อ่างทอง รวมถึง จ.สมุทรสงคราม ได้รับคุณูปการจากสื่อมวลชนในหลายเรื่อง ทั้งการการท่องเที่ยว การแข่งขันเรือยาว ทุเรียนภูเขาไฟ อาหารทะเล ฯลฯ ในฐานะคนทำงาน ช่วยเป็นทางออกที่สำคัญอย่างยิ่ง

 “รายการสถานีประชาชนของไทยพีบีเอสที่เสนอเกี่ยวกับปัญหาสังคมทั้งหลาย มีการพูดคุยนำเสนอให้สาธารณชนรับทราบที่เป็นประโยชน์อย่างมาก หรือรายการวันใหม่วาไรตี้ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เราโดยไม่มีงบแม้แต่บาทเดียว ก็ช่วยให้งานของเราสำเร็จลุล่วง หรือการนำเสนอข่าวของไทยพีบีเอส ที่มีข้อสงสัยว่า ไม่เป็นกลางหรือเปล่า แต่ข้างที่ไทยพีบีเอสเลือกมาตลอด คือข้างคุณธรรม ดังนั้นขอให้ภูมิใจเราเดินมาถูกทางแล้ว สิ่งที่อย่างเสนอแนะ คือ ไทยพีบีเอสมีรายการวัยรุ่นน้อยไป หากมีการนำเสนอเพิ่มขึ้นจะทำให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” วีระศักดิ์ กล่าว

นายชิบ จิตนิยม สว.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม กล่าวว่า จากการพูดคุยและหารือกับเพื่อนในแวดวงสื่อมวลชน มีการตั้งข้อสงสัยในไทยพีบีเอสหลายประเด็น เช่น การใช้งบประมาณเกินกว่าที่ได้รับ การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษที่ขาดความโปร่งใส และมีการเล่นพรรคพวกซึ่งทำให้ระบบขาดความน่าเชื่อถือ

ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม กล่าวว่า ขอชื่อชมประเด็นปลาหมอคางดำที่ทำถึงถือเป็นเนื้อนาบุญที่ไทยพีบีเอสไม่ต้องพึ่งพิงนายทุนใหญ่ และขอให้เป็นเรือธงของสื่อที่นำร่องการทำประโยชน์เพื่อสาธารณะต่อไป ส่วนตัวมีคำถามในเรื่องเป้าหมายหรือนโยบายอย่างไร ในบทบาทของนักข่าวพลเมือง รวมถึงเรื่องสภาผู้ชมผู้ฟังมีส่วนร่วมการจัดทำเนื้อหานโยบายหรือไม่ ซึ่งสภาผู้ชมผู้ฟังรายการในยุคนี้เหมือนอยู่นอกสนามมากเกินไป

นางอังคณา นีละไพจิตร กลุ่มภาคประชาสังคม กล่าวว่า ชื่นชม ไทยพีบีเอส ที่เป็นสื่อสาธารณะที่มีความเป็นมืออาชีพในการทำหน้าที่นักข่าวที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นเพศสภาพ อีกทั้งยังเป็นการรายงาน ที่ไม่ชี้นำ หรือไม่ใส่ความเห็นลงในข่าว แต่ให้ผู้ชมพิจารณาและวิเคราะห์เอง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการนำเสนอพอตแคสต์ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้มีความบกพร่องทางสายตา ทำให้สามารถเข้าถึงมากขึ้น

นอกจากนี้มีข้อท้าทายอีกหลายประการ เช่น เรื่องนักข่าวพลเมืองที่เป็นพื้นที่การนำเสนอความเหลื่อมล้ำคนเล็กคนน้อยค่อนข้างจำกัด จะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้อย่างไร รวมถึง การไม่มีนักข่าวพลเมืองหน้าใหม่ ๆ ที่ควรเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะที่สภาผู้ชมผู้ฟังรายการถูกลดบทบาท เป็นผู้ชมที่ไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย และบทบาทของการตรวจสอบการทำหน้าที่ของภาครัฐ และเอกชน ยังจำกัดและระมัดระวังเกินจำเป็น ทำให้การละเมิดโดยรัฐยังขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยเฉพาะกรณีการที่นักข่าวถูกคุกคามควรมีกลไกการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่

จากนั้น รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ได้ชี้แจงการอภิปรายว่า ไทยพีบีเอสน้อมรับข้อเสนอแนะที่สมาชิกวุฒิสภาได้ให้คำแนะนำ และขอชี้แจงต่อข้อซักถามการอภิปรายสั้น ๆ ว่า เช่น ไทยพีบีเอสมีสื่อตรีมมิ่งชื่อ “VIPA” เป็นเทคโนโลยีแบบอินเทอร์แอกทีฟ ปัจจุบันมีสมาชิก 1.7 แสน ถือว่าเข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้มากขึ้น มีช่องหมายเลข 3 ที่ ผู้ชมส่วนใหญ่วัย 45 ปี ติดตามมากที่สุด ส่วนในกลุ่มวัยเรียนมี ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ทำให้ไทยพีบีเอส เข้าถึงครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัย ในส่วนของนักข่าวพลเมืองที่มีการพูดถึงกันมากนั้น ปัจจุบันมีรายการฟังเสียงประเทศไทย คุณเล่าเราขยาย และอีกหลายรายการที่นำเนื้อหาจากนักข่าวพลเมืองในท้องที่มาเล่าต่อในแพลตฟอร์มต่าง ๆ  ของไทยพีบีเอส รวมถึงสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ www.localsthaipbs.net  หรือแอปพลิเคชัน C-site หรือเพจที่บอกเล่าเรื่องราวในภูมิภาคต่าง ๆ อย่าง องศาเหนือ อยู่ดีมีแฮง ดังนั้น การทำงานกับนักข่าวพลเมืองเป็นการจับมือกันเติบโตแข็งแรงการเป็นสื่อคุณภาพของท้องถิ่น ส่วนสภาผู้ชมผู้ฟังรุ่นที่ 7 เพิ่งเริ่มทำงานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เน้นการรับฟังทางออนไลน์เป็นหลัก และยังมีความเข้มข้น รับข้อเสนอแนะเหมือนเดิม

 รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. กล่าวสรุปว่า ไทยพีบีเอส เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนทั้งสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ กรรมการบริหาร มูลนิธิไทยพีบีเอส ฯลฯ ร่วมกันกำหนดนโยบาย กรรมการนโยบายไม่ได้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว แต่มีการทำงานเป็นกระบวนการขั้นตอนหลังจากที่รับฟังผ่านรูปแบบต่าง ๆ ออกมาเป็นนโยบาย 14 ข้อ อย่างไรก็ดี ไทยพีบีเอส น้อมรับคำแนะนำไปปรับใช้ และจะยังคงรักษามาตรฐานของสื่อสาธารณะที่ดีต่อไป เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะอย่างแท้จริง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img