แม้การชุมนุมของ “ม็อบร้อยชื่อ” ที่ระยะหลังเปลี่ยนมาเป็น “ม็อบคณะราษฎร” จะออกมากดดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อ้างว่าบริหารประเทศล้มเหลว และเป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้อง โดยอีกสองข้อประกอบด้วย 1.ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2.ปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ยิ่งมีข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งทำให้มวลชนส่วนหนึ่งถอยห่าง ในการร่วมทำกิจกรรมกับ “คณะราษฎร” ด้วยเกรงว่าจะเกิดความแตกแยก เพราะกลุ่มคนรักสถาบันก็จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งหลายคนเชื่อว่า “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “อาจารย์ป๊อก-ปิยบุตร แสงกนกกุล” สองแกนนำคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล (กก.) อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของเด็กและเยาวชน อีกทั้งบุคคลทั้งสองยังออกมาวิจารณ์ บทบาทสถาบันอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งเสนอให้ “ปฎิรูปสถาบัน”
ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์”ออกมากล่าวภายหลังการเป็นประธานฝ่ายฆราวาสจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลคนไทยทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ขอให้ทุกคนหันหน้ากลับมาปรองดอง หารือร่วมกันในการแก้ปัญหา
ทุกปัญหามันแก้ได้ถ้าตั้งใจจริง และรัฐบาลยืนยันว่าตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา ก็ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ขอให้ทุกคนมีความสุข พร้อมทั้งยืนยันว่า จะไม่ลาออก ตามคำเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม
ท่ามกลางกระแสรุมเร้ารัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามและบางองค์กร พยายามกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ถอนตัวจากการเป็นนั่งร้านให้ “นายกฯลุงตู่” แต่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเมินเฉยต่อข้อเรียกร้อง เพราะเชื่อว่าม็อบเด็กและเยาวชนมีเบื้องหลัง นอกจากนี้ยังแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อสถาบัน
เพียงแต่ว่าในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของหัวหน้ารัฐบาล เหมือนกำลังถูกโดดเดี่ยวจากเพื่อนรวมงาน โดย “นายกฯลุงตู่ ” ได้สั่งการให้เปิดเพลง “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี” ซึ่งหลังเพลงจบ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดกับ ครม.ว่า “เมื่อเกิดมาเพื่อปกป้องสถาบัน ถ้าตายขอตายเพื่อสถาบัน”
นอกจากนี้ในระหว่างเข้าสู่การประชุม ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง คือการประชุม ครม.ปกติ กับการพิจารณากรณี “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาได้ทำหนังสือด่วนถึงนายกฯ เพื่อขอ ครม.ให้ความเห็นชอบตราพระราชกฤษฎีกาเปิด (พรฏ) ประชุมสมัยวิสามัญตามมาตรา 165
“พล.อ.ประยุทธ์” ยังให้รัฐมนตรีแสดงความคิดเห็น ถึงการชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร” โดยมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดเห็น อาทิ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้กล่าวในหลายเรื่อง รวมถึงข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบัน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่เริ่มออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบัน โดยมีที่ จ.ชลบุรี ซึ่งปรากฏว่ามีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นด้วย
แต่ที่กลายเป็นประเด็น และถูกตีความว่าหัวหน้ารัฐบาล กำลังมีความความรู้สึกถูกลอยแพ หรือ “ถูกเท” จากเพื่อนร่วมงาน โดย “พล.อ.ประยุทธ์” ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเฟกนิวส์ ที่นำภาพการจับกุมผู้ชุมนุมที่เกาะฮ่องกง ไปเผยแพร่จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยได้สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ไปชี้แจงทำความเข้าใจ
ทั้งนี้มีช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรยเชิงตัดพ้อว่า “ที่ผ่านมาผมก็รู้สึกน้อยใจเหมือนกันนะ ที่ไม่มีใครช่วยปกป้องผมเลย” ขณะที่ในตอนท้ายพูดว่า “จริงๆ ไม่ต้องปกป้องผมหรอก แต่ช่วยกันปกป้องสถาบัน”
ก่อนหน้านี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตุว่า ในระหว่างการประชุมสภาฯ หรือเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อขอหารือในเรื่องต่างๆ หรือตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร หลายครั้ง “หัวหน้ารัฐบาล” มักตกเป็นเป้าถูกโจมตีเพียงคนเดียว ไม่ค่อยเห็นส.ส. พลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ออกมาช่วยชี้แจง หรือหยุดเกมฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่หลายคนเห็นว่า “พล.อ. ประยุทธ์” ถูกโดดเดี่ยวจากพรรคแกนนำรัฐบาล เริ่มมาจากการปรับครม. ในช่วงที่หัวหน้ารัฐบาลเข้ามาเป็นผู้นำประเทศครั้งที่ 2 เพราะถ้าไปไล่ดูตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งพปชร.ดู แลอยู่ โควต้ากลางที่เป็นอำนาจในการพิจารณาของ “นายกฯลุงตู่” ประกอบด้วย กระทรวงสำคัญคือ กลาโหม มหาดไทย การต่างประเทศ และ พลังงาน นอกจากนี้ตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหาร ยังเป็นอำนาจการรพิจารณาของนายกฯ
แม้กระทั่งการปรับครม.ครั้งล่าลุด ซึ่งปัญหาอยู่ที่ “กระทรวงพลังงาน” เมื่อแกนนำกลุ่มสามมิตรพยายามผลักดัน“ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสากรรมให้เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับการดึงคนนอก เข้ามารับตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหาร เพราะบุคคลเหล่านี้เมื่อเข้าทำงาน ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ฝ่ายบริหาร ไม่ได้สร้างคะแนนนิยมให้พรรค เมื่อพ้นวาระก็จากแบบไม่ใยดี อีกทั้งยังต้องการผลักดัน “อนุชา นาคาศัย” เลขาธิการ พปชร. เข้ามารับตำแหน่ง “รมว.อุตสาหกรรม” เพื่อให้สมฐานะ “แม่บ้านพรรค”
แต่กลับไม่ได้รับสนองตอบจากหัวหน้ารัฐบาล อ้างว่าติดเงื่อนไขบางประการ แต่กลับแต่งตั้ง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ให้เข้ามารับตำแหน่ง “รมว.พลังงาน” ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร
นอกจากนี้ยังมีประเด็น ที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ และกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต เมื่อมีข่าวเกิดรอยร้าว ความสัมพันธ์ระหว่างพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. กับ “นายกฯบิ๊กตู่” น้องรัก ไม่แนบแน่นและใกล้ชิดเหมือนเดิม โดยเริ่มตั้งแต่การปรับครม. และการแบ่งงานของรองนายกรัฐมนตรี ในการดูแลหน่วยงานต่างๆ
ไล่ตั้งแต่ กรณี “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งควบ รมว.กลาโหม เมื่อกลับมารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล หลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านั้น “บิ๊กป้อม” มีอำนาจดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคงเกือบทั้งหมด พร้อมทั้งควบตำแหน่งรองนายกฯ ดูแลกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งถือว่ามีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ หากมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น
แต่ภายหลังการเลือกตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” กลับให้พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ มีสถานะเพียง “รองนายกฯ” แม้จะให้อำนาจ ดูแลงานด้านความมั่นคง ต้องรับผิดชอบเวลาเกิดความความไม่สงบ หรือการเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่มต่างๆ แต่ไม่ได้ดูแลกระทรวงกลาโหม และตร. จนมีข่าวว่า “บิ้กป้อม” รู้สึกน้อยใจ และมีเสียงปรารถจากคนใกล้ชิดทำนองว่า “ริบอำนาจบิ๊กป้อมไปหมด แต่เวลามีเรื่องร้อนๆกลับโยนไปให้ท่านรับผิดชอบตลอด”
ทั้งๆ ที่การตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพปชร.ของ “บิ๊กป้อม” เพื่อเข้ามาช่วยคุมเสียงในสภาฯ หวังทำให้การทำงานของฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปอย่างราบรื่น แต่เมื่อ “พล.อ.ประวิตร” และคนใกล้ชิด มองว่า หัวหน้ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ “พี่ใหญ่บูรพายัคฆ์” จนนำมาสู่การแสดงออกของสมาชิก พปชร. และดูเหมือน “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเผชิญกระแสกดดันทั้งในและนอกสภาฯ
แม้วันนี้ นายกฯลุงตู่ จะมีอำนาจสูงสุด ในการเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร แต่ “บิ้กป้อม” ก็มีอำนาจในฐานะผู้นำควบคุมเสียงพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งบุคคลทั้งสองเคยร่วมสังกัด “บูรพาพยัคฆ์” แต่บางครั้งอำนาจอาจทำให้คนเปลี่ยน คนใกล้ชิดหัวหน้ารัฐบาลอาจให้ข้อมูลบางอย่าง ทำให้ “พล.อ.ประวิตร” เกิดความรู้สึกน้อยใจ จนต้องแสดงพลังบางอย่าง เพื่อให้ใครบางคนได้เห็น
การปรารถของ นายกฯลุงตู่ กับประโยคที่ว่า “ไม่มีใครช่วยปกป้องผมเลย” อาจต้องการส่งสัญญาณให้เพื่อนร่วมงานได้รับรู้ ถึงความรู้สึกโดดเดี่ยว เมื่อตกเป็นเป้าถูกโจมตีทั้งในและนอกสภาฯ แต่ หัวหน้ารัฐบาล อาจต้องย้อนมาตั้งคำถามกับตนเองว่า ที่ผ่านมาให้ความจริงใจกับเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหน โดยเฉพาะการรวบอำนาจไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว
ยิ่งย้อนไปดูเส้นทางชีวิต พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงการรับราชการเป็นนายทหาร ความสำเร็จจนก้าวไปสู่เก้าอี้ “ผบ.ทบ.” ก็ต้องถือว่า บิ๊กป้อม ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน จนประสบความสำเร็จในชีวิต การรับราชการนายทหาร จากการรับราชการเป็นนายทหาร
แม้กระทั่งการที่ หัวหน้ารัฐบาล ก้าวเข้ามาเส้นทางการเมือง จนได้รับการแต่งตั้งเป็น นายกฯคนที่ 29 บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ พล.อ.ประวิตร รวมถึงการยอมเข้ารับบท แม่ทัพพปชร. เพื่อทำให้ น้องชาย ที่เคยอยู่ใน กลุ่มบูรพายัคฆ์ ประสบความสำเร็จในเส้นทางการเมือง ทำงานได้อย่างราบรื่น
แต่ไม่ว่า “นายกฯลูงตู่” หรือ “พล.อ.ประวิตร” จะมีใครเทใครก่อนก็ตาม แต่บทสรุปท้ายย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาลที่ตกอยู่ในสถานการณ์ถูกรุมเร้า ถ้า “บิ๊กป้อม”ยอมเทจริงๆ นั่นอาจทำให้เส้นทางนายกฯคนที่ 29 ถึงคราวต้องปิดฉากลงทันที
……………………………
คอลัมน์ : ล้วง -ลับ- ลึก
โดย #แมวสีขาว